เนื้อหาวันที่ : 2011-05-30 16:22:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2582 views

ผลลัพธ์ซ่อนเร้นที่เกิดจากมลพิษทางน้ำ

กรีนพีซ เรียกร้องรัฐบาลถอดบทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้วปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษอุตสาหกรรม ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

          กรีนพีซ เรียกร้องรัฐบาลถอดบทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้วปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษอุตสาหกรรม ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

          กรีนพีซได้จัดพิมพ์รายงานวิจัยล่าสุด“ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น” และเรียกร้องให้รัฐบาลถอดบทเรียนจากประเทศที่พัฒนาแล้วและมีนโยบายปกป้องแหล่งน้ำสะอาดอันมีค่าของประเทศจากมลพิษอุตสาหกรรม รายงานดังกล่าวระบุถึงสถานการณ์มลพิษของแม่น้ำสำคัญสี่สายของซีกโลกใต้ (1) ได้แก่ แม่น้ำแยงซี แม่น้ำจ้าพระยา แม่น้ำมาริลาโอ และแม่น้ำเนวา ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้คำมั่นต่อ “อนาคตปลอดสารพิษ” และมีมาตรการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน สัตว์ป่าและพรรณพืชที่พึ่งพาอาศัยในลุ่มน้ำและทรัพยากรที่เกื้อหนุนการดำรงชีพ

          รายงาน “ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น” กล่าวถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของที่เกิดจากมลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรม นำเสนอตัวอย่างปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษอันตรายในสิ่งแวดล้อมในระยะยาวจากประเทศต่างๆ ในซีกโลกเหนือ(2) รวมถึงแม่น้ำฮัดสัน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์ แม่น้ำลาโบเรค และกรณีบ่อฝังกลบสารพิษในสวิสเซอร์แลนด์ (3) ซึ่งความพยายามในการ “ประหยัดเงินหรือลดต้นทุนผลิต” โดยเลือกวิธีการจัดการมลพิษมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดนั้น ในท้ายที่สุดแล้วกลับกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากและก่อให้เกิดความสูญเสียอีกหลายประการในอนาคต

          พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "รายงานฉบับนี้ได้ลบล้างมายาคติของมุมมองที่คับแคบที่ว่า "มลพิษคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความก้าวหน้า" ประสบการณ์จากทั่วทุกมุมโลกแสดงให้เห็นว่ามลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรมได้ก่อให้ เกิดภาระอันใหญ่หลวงด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รายงานได้เสนอแนวทางที่ดีกว่านั่นคือนโยบายการป้องกันมลพิษที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์"

          พลายกล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลสามารถนำพาประเทศสู่สองแนวทาง คือยอมให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมเสี่ยงกับมลพิษที่เป็นอันตรายและทำให้ลูกหลานในอนาคตต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการกับการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำที่มีค่าใช้จ่ายในระดับที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ หรือ ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับรัฐบาลคือการดำเนินนโยบาย “อนาคตปลอดสารพิษ” (Toxic-Free Future) ”

          แม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญเหมือนกับแม่น้ำสายอื่นทั่วโลก เช่น แม่น้ำเนวา มาริลาโอ และแยงซี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และสำหรับการทำเกษตร เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งในชนบทและเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ และกรุงเทพฯ สารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่สะสมและคงอยู่ในแหล่งน้ำ รวมถึงห่วงโซ่อาหาร ซึ่งยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดให้หมดไป การปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำจึงเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

          “ผลกระทบจากมลพิษทางน้ำต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยมักไม่เคยได้รับการชดเชย เนื่องจากยากที่จะประเมินความเสียหาย หรือไม่ก็ไม่สามารถหาตัวผู้ก่อมลพิษให้มารับผิดชอบได้ ประชาชนก็มักจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับผลกระทบต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่มาจากภาษี” พลาย กล่าวอีกว่า “พรรคการเมืองต่างๆ ที่อยากจะมาเป็นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรม โดยต้องสร้างความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษ (4) และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยมลพิษให้เหลือศูนย์ (5)”

          กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลวางนโยบาย “อนาคตปลอดสารพิษ” (Toxic-Free Future) ในการพัฒนาประเทศ โดยจัดให้มีมาตรการป้องกันไว้ก่อน และยุติการใช้และการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย “การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” (Zero Discharge)

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วนดังนี้
          •นำระบบการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษมาใช้ เช่น ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs)
          •รวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายที่ควรเลิกใช้
          •ตั้งเป้าหมาย “การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน