เนื้อหาวันที่ : 2011-05-24 14:01:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 892 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 24 พ.ค. 2554

1. เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.0
-  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.6 ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 12.6 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยบวกจากรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นและการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัว 6.7 และ 1.7 ตามลำดับ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า  เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวในอัตราชะลอลง จากไตรมาสที่ 4 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยมีสาเหตุหลักจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7  จากไตรมาส 4 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 เนื่องจากมีการลดลงของการผลิต Hard Disk Drive และโรงกลั่นน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ถือได้ว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.0 (QoQ_SA) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)  

2. เอกชนฝากรัฐบาลใหม่ กำหนดแนวทางค้าส่งค้าปลีกให้เป็นธรรม
-  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวโน้มค้าปลีกไทยในกระแสโลกาภิวัตน์" ว่า ในแง่ธุรกิจค้าปลีก อยากให้รัฐบาลใหม่กำหนดแนวทางการแข่งขันให้มีความเป็นธรรม ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เพื่อให้คนไทยได้รับความเป็นธรรมในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และยังได้ยืนยันว่า ซีพีจะปรับราคาสินค้าเป็นรายสุดท้าย เพราะมีภาระต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน จึงไม่อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาจำกัด หรือควบคุม ทำให้ธุรกิจภาคค้าปลีกไม่สามารถแข่งขันได้

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ธุรกิจการค้าส่งค้าปลีกถือได้ว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศธุรกิจหนึ่งโดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.3 ของจีดีพี ล่าสุดธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทยในไตรมาสแรกของปี 54 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องร้อยละ 2.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 หลังการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี่ 52  ซึ่งสะท้อนได้จากการบริโภคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 54 ที่คงขยายตัวได้ต่อเนืองเช่นเดียวกันร้อยละ 3.4 โดยได้รับปัจจัยบวกจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ  36.4

3.  Fed ส่งสัญญาณปรับนโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแทนเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ
-  เฟด (Fed) ส่งสัญญาณมุ่งเน้นนโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) โดยเริ่มเข้มงวดการกระตุ้นด้านการเงิน และจำกัดการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.1 นับจากธนาคารกลางดำเนินการซื้อทรัพย์สินรอบที่ 2 รวมแล้วกว่า 2.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะถดถอย

โดยปัจจัยสำคัญมากจากภาคธุรกิจขึ้นราคาจากการคาดการณ์ว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ เฟดจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อลดอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.0

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ถูกกำหนดไว้ที่กรอบร้อยละ 0-0.25 มาตั้งแต่กลางปี 51 ถึงปัจจุบัน ขณะที่มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี โดยเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา (Discretion)

ซึ่งหากเฟดมีการปรับเปลี่ยนนโยบายแบบที่เข้มงวดขึ้น คือเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) นั้น อาจจะส่งผลให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เมื่อมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวกำลังจะหลุดไปจากเป้าหมาย ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางเหล่านั้นมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงนี้ และกำกับนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น   

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง