เนื้อหาวันที่ : 2011-05-24 12:29:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1163 views

SMEs ตื่นตัวยกระดับประสิทธิภาพ

สศอ. ปักธงช่วย SMEs ลดต้นทุน 50% ยกทัพผู้เชี่ยวชาญกว่า 5,000 คนลงพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหา มั่นใจได้ประโยชน์เต็ม ๆ

 นางสุทธินีย์ พู่ผกา
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรฐกิจอุตสาหกรรม

          สศอ. ปักธงช่วย SMEs ลดต้นทุน 50% ยกทัพผู้เชี่ยวชาญกว่า 5,000 คนลงพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหา มั่นใจได้ประโยชน์เต็ม ๆ

         นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ.ได้เร่งดำเนินโครงการด้านยกระดับประสิทธิภาพ SMEs ภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย (Productivity) ปี 2554 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ เนื่องจากผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่สูงขึ้น

โดยได้มีการจัดส่งทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กว่า 5,000 คน ลงพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขถึงสถานประกอบการ ในทุกขั้นตอนการผลิต จนถึงขณะนี้ดำเนินการอยู่ในเดือนที่ 7 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการประมาณ 840 โรงงาน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 900 โรงงาน และจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตลดลง 5%

มั่นใจว่าการดำเนินโครงการในปีงบประมาณนี้ จะได้รับความสนใจมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้นเพื่อความพร้อมในการแข่งขันทางธุรกิจในทุกๆด้าน

          “โครงการดังกล่าว เน้นที่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ครอบคลุม 19 สาขาอุตสาหกรรม โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่สศอ.สร้างเครือข่ายไว้จากทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ซึ่งปีนี้ได้เร่งดำเนินการในเรื่องที่จำเป็นหลายเรื่องเพื่อรองรับทิศทางการขยายตัวของกลุ่ม SMEs

เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เน้นเรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐาน HACCP การจัดการสิ่งแวดล้อม การได้รับฉลาก Carbon Label สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เน้นการประยุกต์ใช้แนวคิดการผลิตที่ดีเลิศและปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยระบบTPM และการพัฒนาการออกแบบและการผลิตผ้าผืนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและประเทศในกลุ่ม BIMSTEC เป็นต้น

          นอกจากนี้จะดำเนินงานในลักษณะเดียวกันในสาขาอุตสาหกรรมอื่นๆอีกหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมคอมโพสิท อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมทองเหลือง อุตสาหกรรมสี อุตสาหกรรมของเล่น เป็นต้น”

          นางสุทธินีย์ กล่าวว่า จุดอ่อนที่สำคัญของ SMEs ไทย คือ การมีผลิตภาพต่ำ เนื่องจาก ผู้ประกอบการและพนักงาน ของ SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความสามารถและทักษะในด้านต่างๆที่มีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพ เช่นความรู้ในการปรับปรุงการผลิต การพัฒนาระบบคุณภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการลอจิสติกส์ รวมทั้งยังขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ ICT ตลอดจนความรู้ในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจุดอ่อนเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ SMEs ในการขยายตลาดหรือรักษาตำแหน่งการแข่งขันของตนเองในตลาด โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ การแข่งขันจะเพิ่มมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศต่อไป