เนื้อหาวันที่ : 2011-05-20 13:41:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2324 views

ภัยชิดใกล้...อย่าไว้ใจคนสนิท(เรื่องยา)

รู้หรือไม่ กว่า 90 % ของยาในท้องตลาดเป็น "ยาอันตราย" หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อยามารับประทานเองหยุดคิดสักนิดก่อนตัดสินใจ

เภสัชกรศรายุทธ ทัฬหิกรณ์

          เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการซื้อยามารับประทานเอง รวมทั้งหยิบยืมยาของเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่บอกว่า ตอนที่ตนเองป่วยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอทานยาตัวนี้แล้วดีขึ้นหรือหายจากโรค ครั้นเราเป็นบ้างเราก็ไปหาซื้อยาตัวเดียวกันจากร้านขายยาที่ไม่ได้มีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือเอายาที่เพื่อนใช้อยู่มากินเองเลย(ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “จิ๊ก“ หรือ “แฮบ” แล้วแต่ท้องถิ่น) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากถึงมากที่สุด และคุณก็โชคดีมากที่ยังมีชีวิตอย่างปกติสุขอยู่ในขณะที่อ่านบทความนี้

          เพราะในความเป็นจริงแล้ว การที่เราจะรับประทานยาตัวใดตัวหนึ่งเข้าไปนั้น หากเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ง่ายๆ ตามร้านสะดวกซื้อก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นยาในกลุ่ม “ยาอันตราย” เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดอักเสบ ยาแก้แพ้บางประเภท ยารักษาโรคเรื้อรังต่างๆ และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือ เภสัชกรอย่างเคร่งครัด จะหยิบไปเลือกรับประทานเองไม่ได้โดยเด็ดขาด (ข่าวดีก็คือ กว่า 90 % ของยาในท้องตลาดเป็น ”ยาอันตราย” แทบทั้งสิ้น)

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะมีต่อประโยชน์การรักษาแล้ว ในทางตรงกันข้าม หากรับประทานอย่างไม่ถูกต้องตามขนาดและวิธีการใช้ ก็อาจส่งผลอันตรายร้ายแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ เรามาลองดูพิษภัยจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องแต่ละประเภทกันดีกว่า

          กลุ่มยาปฏิชีวนะ : เช่น เพนนิซิลิน, อะมอกซีซิลิน, เตตร้าซัยคลิน เป็นต้น อันตรายของยากลุ่มนี้อาจทำให้ เกิดอาการผื่นขึ้น ผิวหนังไหม้เกรียม หายใจไม่ออก และในบางรายถึงขนาดหยุดหายใจไปเลยก็มี ซึ่งมักเกิดกับคนที่มีการแพ้ยาในกลุ่มนี้อย่างรุนแรง

          กลุ่มยาแก้ปวด ลดอักเสบ : เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค หรือยาในกลุ่มนี้บางตัวที่นำไปใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือน ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นกระเพาะอาหารทะลุได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็น หอบหืด เมื่อรับประทานยาในกลุ่มนี้ อาจเสี่ยงทำให้อาการของโรคหอบหืดที่เป็นอยู่กำเริบได้

          กลุ่มยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท : ได้แก่ ยาคลายเครียด และยานอนหลับ ซึ่งมักจะเอามาใช้เวลาเจอเรื่องเครียด หรือนอนไม่หลับ อีกทั้งยังอาจให้คนใกล้ตัวหยิบยืมด้วยความปรารถนาดีอย่างในกรณีของคนในวงการบันเทิงที่กำลังตกเป็นข่าว ในประเด็นนี้ก็ต้องขอฟันธงไปเลยว่า ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ส่งผลต่อผู้ใช้ในบางรายไม่เหมือนกัน ในบางรายนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจได้รับผลจากอาการข้างเคียงของยาเช่น เกิดภาวะวิตกกังวล และซึมเศร้าตามมาได้

          กลุ่มยาแก้แพ้ : ในยาแก้แพ้ลดน้ำมูกบางชนิดจะทำการผสมตัวยาอื่นที่มีฤทธิ์ในการ ลดการคัดจมูกไว้ด้วย ซึ่งยาในกลุ่มแก้คัดจมูกนี้บางตัวจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ ทำให้ใจสั่น ซึ่งต้องระวังอย่างมากหากให้ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวรับประทาน

          นอกจากยากลุ่มดังที่กล่าวมาแล้วยังมียาอีกหลายรายการ (ขอย้ำว่าหลายรายการ มากๆ ครับ) ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่รับประทานแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้ทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตัวท่านเอง ขอแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง
Armstrong, L., Goldman, P., Lacy, F., Lance, L.,2003, Drug Information Handbook, Lexi-Comp’s Canada

ค้นหาข้อมูลเรื่องยาและสุขภาพได้ที่ www.YaAndYou.net
“ยากับคุณ” (www.YaAndYou.net) เป็นเว็บไซต์สำหรับสืบค้นและบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยากับคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลด้านยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย เปิดให้บริการฟรี 24 ชั่วโมง สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine