เนื้อหาวันที่ : 2011-05-20 10:37:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1351 views

Mission Critical เอเชียแปซิฟิกโตแนะองค์กรเร่งปรับกลยุทธ์

ผลวิจัยชี้ระบบประมวลผลในระดับ Mission Critical ขยายตัวในเอเชียแปซิฟิก องค์กรต้องวางแผนขยายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการประมวลผลระดับ Mission Critical

          ผลวิจัยชี้ระบบประมวลผลในระดับ Mission Critical ขยายตัวในเอเชียแปซิฟิก องค์กรจำเป็นต้องวางแผนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการประมวลผลในระดับ Mission Critical  และปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

          องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกยังคงต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการประมวลผลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจว่า คืออะไร และจะมีเทคโนโลยีใดมารองรับ เวอร์ช่วลไลเซชั่นและคลาวด์คอมพิวติ้งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการใช้งานระบบประมวลผลที่สำคัญในระดับ mission critical ของธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อินเทล ไอเทเนียม โปรเซสเซอร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นกุญแจสำคัญสำหรับระบบประมวลผลระดับ Mission Critical ตามด้วย อินเทล ซีออน โปรเซสเซอร์

          ผลการสำรวจจากองค์กรจำนวน 1,091 แห่งใน 10 ประเทศ[1] ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงให้เห็นว่าการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญในระดับ Mission Critical มีการเติบโตขึ้นและเป็นตัวผลักดันให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ และแสวงหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเข้ามารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

          จากผลสำรวจโดยบริษัทวิจัย สปริงบอร์ด รีเสิร์จ (Springboard Research) ซึ่งจัดทำขึ้นในนามของอินเทล พบว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจและความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นแรงผลักดันให้การใช้การประมวลผลที่สำคัญระดับ mission critical ทั้งในแง่ของปริมาณข้อมูลที่สูงมากและการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ

ดังนั้นผู้บริหารในระดับอย่างประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ หรือ ซีไอโอ ทั่วภูมิภาคนี้ จึงยังคงเผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องวางแผนรองรับการใช้งานระบบประมวลผลในระดับ mission critical และจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจ

          จริงๆ แล้ว การประมวลผลข้อมูลในระดับ mission critical นั้น ครอบคลุมถึงการใช้แอพพลิเคชั่นทุกชนิด ปริมาณข้อมูลที่มีการประมวลผล หรือระบบที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานหลักขององค์กร แต่เท่าที่ผ่านมา การใช้ระบบประมวลผลในระดับ mission critical จะใช้กันเฉพาะกับบางแอพพลิเคชั่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยภายใต้หัวข้อ Mission Everything’s Critical: The shifting mission critical tide in Asia Pacific พบว่า ในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาร้อยละ 38 ของซีไอโอได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการใช้งานระบบประมวลผลในระดับ Mission Critical อีกทั้งนอกเหนือจากร้อยละ 75 ของแอพพลิเคชั่นแบบเดิมที่ใช้กับระบบประมวลผลในระดับ mission critical แล้ว ในปัจจุบันยังมีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เช่น เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกัน และอุปกรณ์ทางเว็บ (ซึ่งรวมถึงอีเมล) ถูกรวมไว้ในคำจำกัดความของงานระดับ mission critical ด้วยเช่นกัน

          “ก่อนหน้านี้ แอพพลิเคชั่นที่ใช้กับงานระดับ mission critical จะถูกซื้อและเก็บรักษาโดยใช้ระบบเทคโลยีที่มีราคาสูง อย่างไรก็ดีผลพวงที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์วิกฤติการเงินโลก (global financial crisis: GFC) ที่ผ่านมาได้สร้างแรงกดดันให้องค์กรต่างๆ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีแบบเก่ามารองรับนั้น ไม่เหมาะสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบันอีกต่อไป” เดน แอนเดอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานบริหารฝ่ายวิจัย บริษัท สปริงบอร์ด รีเสิร์ช กล่าว

"จากความเข้าใจที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ว่า mission critical คืออะไร เราได้เห็นการลงทุนด้านเวอร์ช่วลไลเซชั่นและคลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและมีเครื่องมือใหม่ๆ ให้แก่องค์กรนำไปใช้จัดการกับงานในระดับ mission critical ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

          จากการวิจัยครั้งนี้ พบว่า:
          ร้อยละ 62 ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของระบบประมวลผลที่ความสำคัญระดับ mission critical ในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา

          เวอร์ช่วลไลเซชั่นถือเป็นการลงทุนด้านโซลูชั่นสำคัญอันดับแรกสำหรับผู้ตอบแบบสอบถาม โดยร้อยละ 26 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะลงทุนในปีหน้า ขณะที่ร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ลงทุนไปกับเทคโนโลยีนี้แล้ว

          คลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นโซลูชั่นที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 17 ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนที่จะลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า

          ร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแผนที่จะ “ยกระดับ” เซิร์ฟเวอร์ ของตนเอง และร้อยละ 31มีกลยุทธ์ที่จะ “เพิ่มจำนวน” เซิร์ฟเวอร์

          สำหรับสถาปัตยกรรมของอินเทลนั้น อินเทล™ ไอเทเนียม ™ โปรเซสเซอร์ จัดเป็นโปรเซสเซอร์อันดับหนึ่งสำหรับการใช้งานในระดับ mission critical ที่องค์กรต่างๆ ได้วางแผนไว้ ในขณะที่อินเทล™ ซีออน™ โปรเซสเซอร์อยู่ในลำดับที่สอง

          นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “วิธีการแบบเดิมๆ ในการให้คำนิยามและบริหารจัดการระบบประมวลผลที่มีความสำคัญระดับในระดับ mission critical ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เพื่อหากลยุทธ์ที่ดีที่สุดและลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมที่สุดกับความต้องการทางธุรกิจของตนเอง”

          “ในปัจจุบัน มีแอพพลิเคชั่นหลายตัวที่จัดเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้งานระบบประมวลผลในระดับ Mission Critical เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นองค์กรหลายแห่งที่ยังคงยึดติดกับการดำเนินธุรกิจภายใต้โครงสร้างเทคโนโลยีแบบเดิม อาจเกิดปัญหาจากค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพในการทำงาน”

          “องค์กรควรพิจารณาว่าต้องการ “ยกระดับ” “ลดระดับ” หรือเลือกที่จะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งสองแนวทาง ทั้งนี้ปัจจัยการพิจารณาขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นต้องการแอพพลิเคชั่นแบบไหน การลงทุนในแพลตฟอร์มสำหรับงานระบบประมวลผลที่สำคัญในระดับ mission critical โดยยึดมาตรฐานของอุตสาหกรรม ประกอบกับการนำเอาเครื่องมือเวอร์ช่วลไลเซชั่นเข้ามาช่วย จะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่องค์กรในการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคตมาช่วยชับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้” นายเอกรัศมิ์ กล่าวทิ้งทาย