เนื้อหาวันที่ : 2007-03-22 10:06:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2115 views

เอกชนฟอกน้ำเสียเป็นก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า

โรงฆ่าสัตว์เอกชนเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพแก้ปัญหาสองต่อ ลดปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ลดต้นทุนค่าก๊าซหุงต้มผลิตกระแสไฟฟ้าได้เดือนละกว่า 10,000 กิโลกรัม ช่วยลดปัญหาวิวาทะกับชุมชน

โรงฆ่าสัตว์เอกชนเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพแก้ปัญหาสองต่อ ลดปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ลดต้นทุนค่าก๊าซหุงต้มผลิตกระแสไฟฟ้าได้เดือนละกว่า 10,000 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดต้นทุนก๊าซหุงต้มและลดปัญหาวิวาทะกับชุมชน

.

นายอณิวุฒิ พงษ์ไพจิตร ผู้จัดการทั่วไปของโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร บริษัท กาญจนา เฟรช พอร์ค จำกัด อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่า แต่ละวันโรงงานชำแหละสุกรประมาณ 1,600 ตัว ทำให้มีของเสียและน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเกิดขึ้นถึง 592 ลูกบาศก์เมตร จึงได้แก้ปัญหาด้วยการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

.

หลังจากติดตั้งและเดินระบบก๊าซชีวภาพแล้วสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมภายในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหากลิ่นและแมลงวัน และยังได้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพ ขนาดปริมาตรโดยรวม 2,350 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการฆ่าและชำแหละสุกรโดยรวมประมาณ 4,700 ตัว/วัน หรือ 1,602,700 ตัว/ปี ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 พบว่าสามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลงวัน น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพดีขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงฆ่าสัตว์

.

นอกจากนี้ ทางโรงงาน ยังสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มวันละ 397 กิโลกรัม/วัน หรือ เดือนละ 11,910 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 190,560 บาทต่อเดือน หรือ 2,286,720 บาทต่อเดือน

.

นายเบญจกูล พงษ์พูล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) กล่าวว่า การชำแหละสุกรในโรงฆ่าสัตว์จะก่อให้เกิดน้ำเสียประมาณ 300-500 ลิตร/ตัว โดยของเสียส่วนใหญ่จะมีสิ่งสกปรกในรูปของไขมัน น้ำมัน และสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งหากมีการปล่อยลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่ผ่านการบำบัดจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม น้ำเน่าที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ สามารถบำบัดด้วยระบบชีวภาพซึ่งมีผลพลอยได้เป็นก๊าซชีวภาพที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้

.

บริษัท กาญจนา เฟรช พาร์ค จำกัด เป็น 1 ใน 8 โรงฆ่าสัตว์ที่เข้าโครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพจากระบบจัดการน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์ ทำการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพแบบไร้ออกซิเจนของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระบบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่ำเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและเดินเครื่องน้อย

.

ทั้งนี้ภาครัฐได้กำหนดมาตรการส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยมีเป้าหมายในการกำจัดของเสียจากฟาร์มสุกร 4.3 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนไฟฟ้าได้ 11 เมกะวัตต์ และทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มได้ 9,000 ตันต่อไป ภายในปี 2554