เนื้อหาวันที่ : 2011-05-10 17:12:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2423 views

เงินเฟ้อโลก ดอกเบี้ยไทย และเรื่องทีไม่พูด

หากมีการนึกถึงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้นนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหลักการคือดอกเบี้ยต่ำส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตรดอกเบี้ยสูงช่วยชะลอความร้อนแรงและป้องกันเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อโลก ดอกเบี้ยไทย และเรื่องทีไม่พูด
(Global Inflation and Thai Interest Rate: An Untold Story)

เวทางค์ พ่วงทรัพย์
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

          หากมีการนึกถึงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้นนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหลักการของนโยบายคืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการลงทุน การทำธุรกิจ และการจ้างงาน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูง ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มต้นทุนการลงทุน การทำธุรกิจและลดการจ้างงาน

          แน่นอน การใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูง ไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป แต่ที่ต้องมีการนำมาใช้เนื่องจากต้องการชะลอเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินควร และป้องกันการเกิดปัญหาเงินเฟ้อ

          1. เงินเฟ้อโลกลดลงและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากข้อมูลของ IMF ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา (2533 – 2552) อัตราเงินเฟ้อของโลกรวมทั้งของประเทศไทยลดลงมาก (ทั้งที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยบาร์เรลละ 23 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2533 เป็นเฉลี่ยบาร์เรลละ 97 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 ก่อนลดลงเหลือ 62 ในปี 2552) และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อในระยะ 4 - 5 ปีข้างหน้า (2553 – 2557)

ตารางที่ 1. อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของกลุ่มต่างๆ ในช่วงเวลาต่างๆ (ร้อยละ)


ที่มา IMF ปี 2553-2557 เป็นการประมาณการ ณ เดือนตุลาคม 2553

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของโลกและประเทศต่าง ๆ ลดลงในระยะที่ผ่านมาเนื่องจาก การรวมตัวทางการเศรษฐกิจโลก การแข่งขันส่งออก การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

          สำหรับ 4 - 5 ปีข้างหน้า IMF มองว่าอัตราเงินเฟ้อของโลกรวมทั้งของไทยจะลดลง จากการที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับต่ำ กำลังการผลิตที่ล้นเหลือ นอกเหนือจากกระแสการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแข่งขันส่งออกและการรวมตัวทางการเศรษฐกิจของโลกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

          2. เงินเฟ้อของไทยเกิดจากราคาน้ำมันและอาหารสด อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยที่ร้อยละ 2.5 ยกเว้นปี 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงกว่าร้อยละ 5 จากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบของโลก เฉลี่ยบาร์เรลละ 97 ดอลลาร์สหรัฐ

          และเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อ พบว่าสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมาจากราคาหมวดพลังงานและราคาหมวดอาหารสด คิดเป็นร้อยละ 60 ของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของหมวดพลังงานและอาหารสดเฉลี่ย 10 ปี ของช่วง 2543 – 52 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 6.0 และ 8.3 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และอัตราเงินเฟ้อหมวดพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่รวมพลังงานและอาหารสด) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เท่านั้น

แผนภาพที่ 2. เฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อช่วงเวลา 2543 – 2552 (ร้อยละ)


          ในทางหลักการของนโยบาย ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและสาเหตุอื่นในฝั่งของต้นทุนการผลิต (supply shocks) เนื่องจากไม่สามารถลดปัญหาต้นทุนการผลิตได้ แต่จะยิ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็น

          และที่น่าสนใจคือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากจากเมื่อ 10 ปีก่อน จากบาร์เรลละ 28.2 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2543 เป็นบาร์เรลละ 62 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 219 แต่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยน้อยมากในช่วงเวลาปี 2543 – 2552 ที่เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5

          3. ต้นทุนจากนโยบายดอกเบี้ยสูง หากปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ จากร้อยละ 1.25เป็น 3.25 จาก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จะส่งผลให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5.7 หมื่นล้านบาทต่อปี และต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาทต่อปีสำหรับภาคเอกชน ซึ่งเป็นต้นทุนทางตรงของดอกเบี้ย ไม่นับรวมการลดลงของราคาหลักทรัพย์ต่าง ๆ ยอดขายลดลงของอสังหาริมทรัพย์ การลงทุน การทำธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่น้อยลง รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

          4. มีทางเลือกในการลดเงินเฟ้ออีก การลดอัตราเงินเฟ้อมีหลายวิธีนอกจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลกระทบมากและเป็นวงกว้าง อาทิ การใช้มาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของรัฐบาล และการใช้มาตรการลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทางสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำในปี 2553 ตลอดจนการลดภาษีสำหรับสินค้านำเข้าก็สามารถช่วยให้ราคาสินค้าในประเทศลดลงได้

          ผมคิดนอกกรอบว่า หากเป้าหมายคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แทนที่จะใช้วิธีเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ใช้วิธีการอื่น เช่นนำเงินภาคเอกชน 2 แสนล้านบาท งบประมาณภาครัฐ 5.7 หมื่นล้านบาทและกลไกอื่นของรัฐ มาใช้ในการชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า อาทิ ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต และใช้มาตรการลดค่าครองชีพด้านอาหาร การเดินทางสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นต้น อาจจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน แต่ผลกระทบในทางลบน้อยกว่า

          สุดท้าย ผมมองว่าปัญหาเงินเฟ้อในระยะปานกลางไม่รุนแรงนัก จากกระแสการรวมตัวทางเศรษฐกิจโลก การแข่งขันส่งออก (และลดราคาสินค้าส่งออก) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งกำลังการผลิตที่ล้นเหลือของโลก ถึงแม้ว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อมีความจำเป็น แต่มีความจำเป็นน้อยลง ภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป และเครื่องมือในการควบคุมราคาสินค้าที่มีหลากหลาย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง