เนื้อหาวันที่ : 2011-05-06 12:00:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1384 views

เอกชน แนะรัฐหามาตรการรับมือผลกระทบก่อนลอยตัว LPG

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางหามาตรการบรรเทาผลกระทบก่อนการปรับลอยตัวราคาก๊าซ LPG

          สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางหามาตรการบรรเทาผลกระทบก่อนการปรับลอยตัวราคาก๊าซ LPG

          เมื่อวันที่ 22 กพ.54 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบก่อนการปรับลอยตัวราคาก๊าซ LPG โดยเสนอขอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาแนวทาง และมาตรการที่เหมาะสมก่อนการปรับลอยตัวราคาก๊าซ LPG นั้น

          แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 มีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไตรมาสละ 1 ครั้ง จำนวน 4 ครั้งๆ ละ 3 บาท/ กก. โดยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือรองรับ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิก และอุตสาหกรรมแก้วและกระจก ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอย้ำจุดยืนอีกครั้งหนึ่งว่า เราเห็นด้วยกับการลอยตัวก๊าซ LPG ให้เป็นไปตามราคาในตลาดโลก จึงได้ขอความร่วมมือไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี

โดยกลุ่มต่าง ๆ มิได้โต้แย้งการปรับราคาดังกล่าว ยกเว้นกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก และกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนของ ก๊าซ LPG ในระดับสูง และมีคู่แข่งขันในต่างประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงในราคาที่ถูกกว่า ทั้งผู้ประกอบการใน กลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ และได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ราคาขายสินค้าส่วนใหญ่ก็มีการตกลงราคาในระยะยาว ไม่อาจปรับราคาขายได้ทันท่วงที และการปรับกระบวนการผลิต เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักร หรือย้ายฐานการผลิตล้วนต้องใช้เวลานาน ไม่อาจรับผลกระทบจากการปรับราคาตามมติของ กพช. ดังกล่าวได้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าได้ดำเนินการให้ความร่วมมือต่อทางการ จำกัดวงผู้ถูกผลกระทบลงเหลือเพียง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ จึงน่าจะช่วยให้ภาครัฐดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น

          สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงขอเสนอมาตรการให้การช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

มาตรการที่ 1
          ขอให้ผู้ที่ใช้ก๊าซ LPG โดยติดตั้งถังชนิดหลอด ขนาด 48 กก.ไม่เกิน 20 ถัง สามารถใช้ก๊าซ LPG ได้ใน ราคาเดิม แทนของเดิมที่กำหนดติดตั้งถังไว้เพียง 10 ถัง

มาตรการที่ 2
          ขอให้พิจารณาแนวทางควบคุมราคา สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ที่อยู่นอกเหนือจากมาตรการที่ 1 ที่ใช้ถัง BULK / ถังหลอด โดยใช้มาตรการระบบโควต้าคูปอง ซึ่งมีวงเงินสนับสนุนประมาณ 1,800 ล้านบาท/ปี ดังนี้

          2.1 ให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้ก๊าซ LPG ในราคาเดิมได้อีก 3 ปี
          2.2 หากต้องมีการปรับขึ้นราคาภายใน 3 ปี ขอให้พิจารณาปรับขึ้นเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปีละไม่เกิน 1 บาท / กก. รวม 3 บาท/กก. (ใน 3 ปี) ซึ่งเป็นขีดความสามารถที่ผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้ในเวลานี้

มาตรการที่ 3
          ขอให้ภาครัฐจัดหาพลังงานทางเลือกที่มีราคาไม่ต่างจาก LPG ที่ใช้อยู่เดิม เช่น ก๊าซธรรมชาติ โดยเพิ่มแนวท่อก๊าซฯ ไปยังโรงงานอุตสาหกรรม / ก๊าซ LNG หรือ CNG สำหรับอุตสาหกรรมบางแห่ง ที่ไม่คุ้มค่าในการเพิ่มแนวท่อก๊าซฯ หรือพลังงานทางเลือกอื่นในราคาใกล้เคียงกับก๊าซธรรมชาติ

มาตรการที่ 4
          ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณโดยมีแผนงาน และมีระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จทุกโรงงานที่เข้าร่วมภายใน 3 ปี เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับพลังงานทางเลือก การจ้าง / จัดหาผู้เชี่ยวชาญสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปใช้พลังงานทางเลือก, การประหยัดพลังงานและเทคนิคการเผาเซรามิกให้เหมาะกับพลังงานทางเลือก เป็นต้น

มาตรการที่ 5
          สนับสนุนเงินทุนในลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan สำหรับการย้ายฐานการผลิตไปยังแนวท่อก๊าซธรรมชาติ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาเห็นว่ามาตรการ 5 ข้อดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบต่อภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมากให้กับผู้ประกอบการ ทั้ง 2 อุตสาหกรรม ได้ในระยะหนึ่งเพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ

          ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวข้างต้นเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยภาคอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานสะอาด (LPG) แทนน้ำมันเตา ตามนโยบายของภาครัฐ เมื่อประมาณ 30 ปี ที่ผ่านมา

ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย