เนื้อหาวันที่ : 2011-05-03 17:19:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3286 views

มะเร็งหลังโพรงจมูก

อีกหนึ่งมะเร็งร้ายที่พบได้บ่อยในประเทศไทย มักเกิดกับคนวัยทำงาน วันนี้มีเกร็ตความรู้เกี่ยวกับมะเร็งโพรงจมูก สาเหตุ และขั้นตอนการรักษามาฝาก

มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal cancer)

นายแพทย์อภิชัย ลีละสิริ

ผู้ป่วยชายอายุ 40 ปี มีอาการเจ็บคอมาประมาณ 3 เดือน บางครั้งรู้สึกเหมือนมีอะไรมาติดที่คอ นอกจากนั้นมีเลือดออกจากจมูกเวลาสั่งน้ำมูก ผู้ป่วยไม่ได้ไปตรวจกับแพทย์ เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร ได้ซื้อยากินเอง ต่อมาอาการไม่ดีขึ้นและมีก้อนบริเวณด้านข้างคอทั้ง 2 ข้าง จังได้มาพบแพทย์ทางหู คอ จมูก จากการตรวจพบว่ามีผู้ป่วยมีเนื้องอกบริเวณหลังโพรงจมูก ได้ทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง”

มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย รวมทั้งประเทศใกล้เคียง เช่น จีน แต่พบได้น้อยในประเทศทางยุโรป หรืออเมริกา ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีอายุค่อนข้างน้อยคืออยู่ระหว่าง 30-50 ปี บางครั้งพบอายุน้อยกว่า 30 ปี หรือมากกว่า 50 ปีก็ได้ ผู้ป่วยในช่วงอายุดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทำงาน

ดังนั้นจึงมักคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก เนื่องจากอาการของมะเร็งหลังโพรงจมูกในระยะแรกมักไม่ค่อยชัดเจน คล้ายกับอาการของไข้หวัด เจ็บคอ ผู้ป่วยมักไม่ได้พบแพทย์ บางครั้งซื้อยากินเอง ดังเช่นผู้ป่วยตัวอย่างข้างต้น พบว่าผู้ป่วยไทยส่วนใหญ่มาพบแพทย์เมื่ออาการเป็นมากแล้ว เช่น มะเร็งกระจายไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองข้างคอ หรือกระจายไปบริเวณสมอง เนื่องจากบริเวณหลังโพรงจมูกนี้อยู่ใกล้ชิดกับสมองมาก

อาการของมะเร็งหลังโพรงจมูก นอกจากจะมีอาการเจ็บคอไม่สบายในคอ มีเลือดออกจากจมูกซึ่งเป็นอาการระยะแรกแล้ว อาจมีอาการอื่น เช่น หูอื้อ ขากเสลดเป็นเลือด ต่อมน้ำเหลืองข้างคอโต มีอาการทางสมองและเส้นประสาทสมอง ได้แก่ ปวดศรีษะ ตาเหล่ ก็ได้ซึ่งมักเป็นอาการในระยะท้ายของโรค

ผู้ป่วยบางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโตที่ส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ที่ขาหนีบได้ซึ่งบ่งว่าเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มแรกได้พบแพทย์ทางหู คอ จมูก เพื่อจะได้รับการตรวจที่ละเอียด หลังจากนั้น ถ้าพบก้อนเนื้อแพทย์จะทำการผ่าตัดไปตรวจทางพยาธิวิทยา

เพราะมะเร็งบริเวณนี้มีหลายประเภทตามชนิดของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เนื่องจากการรักษามะเร็งแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับ ไต กระดูก เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ MRI บริเวณหลังโพรงจมูกและสมอง เพื่อดูว่ามีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ หรือไม่ จึงจะเริ่มทำการรักษา

สาเหตุของมะเร็งหลังโพรงจมูกที่สำคัญ คือ เชื้อไวรัสที่ชื่อ Epstein Barr Virus (EBV) ซึ่งเป็นไวรัสคนละชนิดกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ผู้ป่วยจะติดเชื้อไวรัส EBV นี้จากบริเวณช่องปาก ดังนั้นผู้ป่วยจะติดเชื้อไวรัสนี้อยู่อาจแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นได้โดยทางน้ำลาย

ไวรัสชนิดนี้จะแบ่งตัวภายในเซลล์ของเยื่อบุช่องปากทำให้ยีนของเซลล์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์มะเร็งจะกระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ และอาจเข้ากระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ หรือไขกระดูกได้

การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกต่างจากมะเร็งของบริเวณคอและศรีษะชนิดอื่น เนื่องจากบริเวณหลังโพรงจมูกเป็นบริเวณที่สามารถเข้าไปทำผ่าตัดได้ยากดังนั้น การให้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด จึงเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยจะตอบสนองดีมากต่อยาเคมีบำบัดชนิด 5-Fluouracil (5 Fu) และยากลุ่ม Platinum (cisplatin หรือ carboplatin) โดยจะเริ่มฉายแสงไปพร้อม ๆ กับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งใช้เวลาในการฉายแสงประมาณ 1-2 เดือน

และเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดประมาณ 5-6 เดือน (ให้ยา 4-5 วันต่อ 1 เดือน) ผลแทรกซ้อนจากการรักษา ได้แก่ อาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ ซึ่งมักเป็นมากในช่วงเดือนแรก หลักจากนั้นเมื่อฉายแสงครบแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาการผมร่วมมีไม่มาก ผู้ป่วยจะมีผมบางลงเล็กน้อยไม่ถึงกับร่วงหมด ส่วนอาการคลื่นไส้ อาเจียนพบน้อยเนื่องจากมียาป้องกันคลื่นไส้ อาเจียนที่ได้ผลดีมากในปัจจุบัน (Ondansetron และ Granisetron)