เนื้อหาวันที่ : 2011-05-03 11:39:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1042 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 3 พ.ค. 2554

1. อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.04
-  ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนเม.ย.54 ว่า อยู่ที่ 112.01 หรือขยายตัวร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 15 เดือนนับจากเดือน ม.ค.53 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 แต่ถือว่ายังเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานออก) ในเดือนเม.ย.54 อยู่ที่ 105.59 หรือขยายตัวร้อย 2.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

-  สศค. วิเคราะว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. 54 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนมี.ค.54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.14 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ขยายตัวร้อยละ 20.61 นอกจากนั้นราคาเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำและเครื่องประกอบอาหารปรับตัวสูงขึ้นมากเช่นกันที่ร้อยละ 8.86 และร้อยละ 13.03 ตามลำดับ

เนื่องจากต้นทุนหน้าฟาร์มที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนในเดือนเม.ย. 54 ส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรจำพวกพืชผัก และเนื้อสัตว์ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการบริโภคเอกชนในระยะต่อไป

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค. ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเกินคาด
-  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย เศรษฐกิจไทยล่าสุดเดือน มี.ค. 2554 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเกินคาด โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ส่งสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจ ประเทศคู่ค้า โดยในเดือน มี.ค. การส่งออกของไทยทุบสถิติสูงสุดโดยยังคงได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจคู่ค้า อันส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักและตลาดใหม่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

โดยการส่งออกเดือน มี.ค. 2554 ขยายตัวร้อยละ 14.5 จากเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.1 ในเดือน ก.พ. ขณะที่การนำเข้าในเดือน มี.ค. 2554 ขยายตัวร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

-  สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 2554 และไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวได้สูง สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. ที่อยู่ที่ระดับ 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกหมวดสินค้าและแทบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน อันสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 11.7 และการลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 4.0-5.0

3. ภาคการผลิตของยุโรปเติบโตขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย. 54
-  ภาคการผลิตของยุโรปในเดือนเม.ย.54 เติบโตที่ระดับ 57.7 ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราเร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อวัดจากค่าเฉลี่ยใน 17 ประเทศในกลุ่มภาคพื้นยุโรปเพิ่มขึ้นจาก มี.ค.ที่ระดับ 57.5 โดยปัจจัยสำคัญมาจากผลผลิตที่เพิ่มในระดับสูงขึ้นในเยอรมันและฝรั่งเศส อาทิ บจ.Volkswagen AG ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะจากภาคพื้นเอเชียเพิ่มสูงขึ้น

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในภาคการผลิตของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปจะส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปยังคงมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง สะท้อนจากล่าสุดโปรตุเกสเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากกรีซและไอร์แลนด์ที่เข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF โดยคาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านยูโร

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของโปรตุเกสในปี 2010 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ของ GDP นอกจากนี้ คำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม (Industrial New Orders) ของกลุ่มประเทศในยูโรโซน ณ เดือน ก.พ. 54 ยังขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง