เนื้อหาวันที่ : 2011-04-29 11:42:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 851 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 29 เม.ย. 2554

1. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ -2.1
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผย ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสที่ 1/54 หดตัวเล็กน้อยร้อยละ -2.1  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นไตรมาสแรกที่  MPI กลับมาหดตัวหลังจากฟื้นตัวและขยายตัวเป็นบวกจากวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 52  เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมมีการชะลอการผลิตลง ผลจากระดับสินค้าคงคลังที่มีสูงมาก ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.6

- สศค.วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 54 นี้หดตัวลงเพียงเล็กน้อย เนื่องมาจากยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น และปัญหาอุทกภัยในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อาจส่งผลกระทบต่อดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสตถัดไป

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวดีอยู่ เนื่องมาจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง

2. แรงงานเคาะค่าจ้างเพิ่ม 11 อาชีพ
- ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจำนวน 11 สาขาอาชีพ และจะเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 3 พ.ค. 2554 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนยุบสภา โดยอัตราค่าจ้างทั้ง 11 สาขาอาชีพอยู่ในช่วงต่ำสุดที่ 250 บาท/วัน และสูงสุดที่ 690 บาท/วัน

ขณะเดียวกัน ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ก็ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้กรรมการค่าจ้างปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 13% ในเดือน พ.ค. 2554 นี้ เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคาไปหมดแล้วทำให้ลูกจ้างที่มีรายได้น้อยไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม กรรมการค่าจ้างไม่มีวาระประชุมเรื่องนี้แต่อย่างใด

- สศค.วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างของกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ แม้ว่าจะส่งผลให้ต้นทุนแรงงานของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างดังกล่าวเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลเมื่อเดือน ม.ค. 54 ที่ผ่านมา จากระดับเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 165.22 บาท/วัน ในปี 53 เป็น 175.82 บาท/วัน (ณ เม.ย. 54)

3. IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7
- IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7 จากการขยายตัวในระดับสูงของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเอเชียที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ จะขยายตัวร้อยละ 9.5 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ

- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเอเชียที่ขยายตัวได้ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางสูงขึ้นเพื่อลดแรงกดด้านอัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มสกุลเงินในภูมิภาคที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยหลักให้มี Capital Inflow ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศในภูมิภาครวมถึงไทยในช่วงที่ผ่านมา

โดยค่าเงินบาท ณ วันที่ 28 เม.ย. 54 แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งยังคงแข็งค่าเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ ล่าสุด Fed ได้ประกาศใช้มาตราการการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.0-0.25 ซึ่งอาจจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินในภูมิภาคเอเชียให้มีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง