เนื้อหาวันที่ : 2011-04-29 10:26:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 940 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 28 เม.ย. 2554

1. ยอดส่งออกอาหารปีนี้โต 6.5 %
-  ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าไทย รายงานว่า ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 54 จะมีมูลค่า 8.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตที่ดี ประกอบกับภาวะภัยพิบัติในญี่ปุ่น ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น

-  สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 10.8 และ 7.4 ของมูลค่าส่งออกรวม ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 58.6 และ 17.0 ตามลำดับ   

สินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ ข้าว ไก่ ทูน่ากระป๋อง ผักผลไม้สดและแปรรูป ส่วนใหญ่ส่งออกไปยัง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป การส่งออกในภาพรวมของประเทศ   คู่ค้าของไทยยังขยายตัวดีทุกตลาด เนื่องจากความต้องการในตลาดโลก ทั้งนี้ สศค.คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 54 จะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าประมาณการเดิมที่ตั้งไว้

2. คาดการณ์เศรษฐกิจจีน-เกาหลีใต้ ขยายตัวต่อเนื่อง
-  ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รายงานว่า GDP ไตรมาสแรกของปี 54 ขยายตัว ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยรับปัจจัยบวกจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่ศูนย์สารสนเทศของจีน คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 2 ของปี 54 จะชะลอจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 5 ซึ่งเศรษฐกิจอาจชะลอลงเล็กน้อยในครึ่งปีหลัง

-  สศค.วิเคราะห์ว่า จีนและเกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดย GDP ไตรมาสแรกปี 54 ของจีนขยายตัวร้อยละ 9.7 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 21.3 จากต้นปี และมีอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมี.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ส่วน GDP เกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4 ปี 53 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุด ขยายตัวร้อยละ 4.7

ขณะที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 30.4 และอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมี.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศจะมีส่วนช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สศค.ได้ประมาณการเศรษฐกิจในเดือนมี.ค. 54 โดยมีสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 9 และ 4.6 ต่อปี ตามลำดับ

3. เอสแอนด์พีปรับลดเกรดแนวโน้มความน่าเชื่อถือระยะยาวของญี่ปุ่นลงเป็นลบ
-  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าสแตนดาร์ด แอน พัวร์ (S&P) ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นลงสู่ “เชิงลบ” สืบเนื่องจากความเสี่ยงที่เกิดการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัติของรัฐบาลญี่ปุ่นที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านล้านเยน

และจะทำให้การขาดดุลงบประมาณของญี่ปุ่นมากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.7% ของจีดีพี  ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น  ทั้งนี้ S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อของตราสารหนี้ระยะยาวที่ระดับ  AA-

-  สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงของสถานการณ์หนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่น นอกจากนี้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าท้ายอื่นๆทั้ง ในด้านการระดมเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูประเทศหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ และการรักษาวินัยทางการคลังเพื่อลดยอดหนี้

โดยหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุด ณ เดือน มี.ค. 54 อยู่ที่ 10.57 ล้านล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นร้อยละ 181 ต่อ GDP นอกจากนี้ คาดว่าการกู้เงินของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อฟื้นฟูประเทศจะส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 54 ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับร้อยละ 204 ต่อ GDP ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.3    

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง