เนื้อหาวันที่ : 2007-03-20 11:40:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5859 views

ทำความรู้จักกับกรดซัลฟุริกใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัย

ในโลกธุรกิจเคมีอุตสาหกรรมได้มีการนำสารเคมีหลากหลายชนิด มาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์และหนึ่งในนั้นก็ คือ กรดซัลฟุริก ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสารเคมีเชิงพาณิชย์ที่มีการซื้อขายกันมาก และสำคัญที่สุดอีกชนิดหนึ่งก็คือถูกนำมาใช้ในเกือบจะทุกกระบวนการงานอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม จนอาจจะพูดได้ว่าปริมาณการซื้อขายกรดซัลฟุริก ถือเป็นเครื่องวัดกิจกรรมโดยรวมของระบบเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ กรดซัลฟุริกมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น แกสโซลีน, แบตเตอรี, ไฟเบอร์สังเคราะห์, สีและสารสี, เภสัชกรรม, เคมีอุตสาหกรรม, ตัวกึ่งนำไฟฟ้าหรือความร้อน, พลาสติก, เยื่อกระดาษและกระดาษ, โลหะ, ปุ๋ยและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น

ในโลกธุรกิจเคมีอุตสาหกรรมได้มีการนำสารเคมีหลากหลายชนิด มาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์และหนึ่งในนั้นก็ คือ กรดซัลฟุริก ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสารเคมีเชิงพาณิชย์ที่มีการซื้อขายกันมาก และสำคัญที่สุดอีกชนิดหนึ่งก็คือถูกนำมาใช้ในเกือบจะทุกกระบวนการงานอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม จนอาจจะพูดได้ว่าปริมาณการซื้อขายกรดซัลฟุริก ถือเป็นเครื่องวัดกิจกรรมโดยรวมของระบบเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ กรดซัลฟุริกมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น แกสโซลีน, แบตเตอรี, ไฟเบอร์สังเคราะห์, สีและสารสี, เภสัชกรรม, เคมีอุตสาหกรรม, ตัวกึ่งนำไฟฟ้าหรือความร้อน, พลาสติก, เยื่อกระดาษและกระดาษ, โลหะ, ปุ๋ยและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น

.

เมื่อดูรายการภาคอุตสาหกรรมที่นำกรดซัลฟุริกเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ากรดชนิดนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ แต่สัจธรรมที่เรามักจะได้ยินเสมอ ๆ ก็คือ สิ่งใดก็ตามเมื่อมีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน ทำนองเดียวกับกรดซัลฟุริกนี่แหละ แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้งาน ก็ควรจะต้องรู้จักวิธีการใช้งานอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันอันตรายด้วยเช่นเดียวกัน

.

ก่อนที่จะไปว่ากันถึงเรื่องวิธีการใช้งาน เราลองมาทำความรู้จักกับเจ้ากรดกรดซัลฟุริกกันซักเล็กน้อยดีกว่า แต่ถ้าใครรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว จะข้ามส่วนนี้ไปเพื่อความประหยัดเวลาก็ไม่ว่ากัน

.

สมบัติทางกายภาพและเคมี

- สูตรโมเลกุล (Molecular formula) H2SO4                             

- สถานะ ( Physical State ) ของเหลว                                  

- น้ำหนักโมเลกุล (Molecular weight) 98.1 g/mol                  

- กลิ่น (Odor) ไม่มีกลิ่น

- ความหนาแน่น (Density) 1.84 g/mol @ 15°C                    

- สี (Color) ไม่มีสี

- จุดเดือด (Boiling point) 315°C (260°F)                           

- สารไวไฟ (Flamable) ไม่ไวไฟ

- จุดหลอมเหลว (Melting point) 3°C (37°F)

- ความหนาแน่นไอ [Vapor Density (Air=1)] 3.4

- ความถ่วงจำเพาะ [Specific Gravity (Water=1)] 1.3 – 1.4

- ความดันไอ (Vapor pressure) 1 @ 145.8°C (295°F)

- ความสามารถละลายในน้ำ (Solubility in water) ละลายในน้ำได้ 100 %

.

เสถียรภาพและการทำปฏิกิริยา เสถียรเมื่อใช้และเก็บรักษาในสภาวะปกติ แต่สารละลายเข้มข้นสามารถทำปฏิกิริยารุนแรงกับน้ำได้ และควรหลีกเลี่ยงการเก็บกรดซัลฟุริกไว้ในสภาวะอุณหภูมิสูงเกินกว่า 150°F

การเกิดสารโพลีเมอร์อันตราย ไม่ปรากฏ

การสลายตัวเกิดสารอันตราย เกิดไอ และสารพิษ ได้แก่ ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ ( SO3 )  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ( SO2 )  คาร์บอนมอนอกไซด์ ( CO )  และกรดฟุมมิ่งซัลฟุริก ( Sulfuric acid fumes : อาจเรียกว่า Oluim คือสารละลายของก๊าซ SO3  ในกรดซัลฟุริก มีสูตร xH2SO4+ySO3  เกิดขึ้นโดยการผ่านก๊าซSO3 ทำปฏิกิริยากับ H2SO4 เข้มข้น โดยกรดฟุมมิ่งซัลฟุริกจะไม่มีน้ำปะปนอยู่ )

สารที่เข้ากันไม่ได้ สัมผัสกับสารอินทรีย์ (อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้และการระเบิด )  สารไวไฟ ตัวรีดิวซ์แก่, ตัวออกซิไดซ์แก่, น้ำ,  เบสแก่,   โลหะอัลคาไลน์,  โปแทสเซียมคลอเรต, โปแทสเซียมเปอร์มังกาเนต,  โซเดียม,  ลิเธียม,  ฮาโลเจน,  ออกไซด์และไฮดราย  โลหะ (เมื่อทำปฏิกิริยาจะเกิดออกไซด์ของกำมะถันและไฮโดรเจน )  เป็นต้น

สภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง ความร้อน ความชื้น และสารที่เข้ากันไม่ได้

การใช้ประโยชน์ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สารละลายอิเลกโตรไลต์ ใช้ในการชะล้างถ่านหิน เป็นตัวแลกเปลี่ยนอิออน ฯลฯ กรดซัลฟุริกที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ส่วนมากอยู่ในสภาพของน้ำมัน และของเหลวกัดกร่อน โดยมีการไล่สีตั้งแต่ไม่มีสีจนถึงสีเหลืองอ่อน ๆ และมีลักษณะใสจนถึงขุ่นมัว

ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัส กรดซัลฟุริกซึ่งมีสมบัติหลากหลายของสภาพความเป็นกรด การทำปฏิกิริยาและการกัดกร่อน โดยในการใช้งาน สามารถที่จะทำอันตรายต่อผู้สัมผัสได้ ตั้งแต่อาการบาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงสาหัส และบางครั้งร้ายแรงจนถึงตายได้

ช่องทางในการสัมผัส กรดซัลฟุริกสามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกาย ถ้าสัมผัสโดยตรง สูดดม หรือดื่มกินเข้าไป

.

อาการที่เกิดขึ้นหากสัมผัสโดยตรง

- ผิวหนัง ระคายเคืองอย่างรุนแรง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเกิดแผลพุพอง

- ดวงตา การสัมผัสโดยตรงกับของเหลว ไอ หรือหมอกควัน ของกรดซัลฟุริก จะทำให้ดวงตาระคายเคือง พล่ามัว ปวดแสบปวดร้อน น้ำตาไหล ตาแดง บวม กระจกตา เสียหาย และกรอกตาไปมาไม่ได้ ถ้าหากโดนดวงตามาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการไหม้อย่างสาหัสจนถึงตาบอดได้

- การสูดดม การสูดดมเอาไอหรือหมอกควันของกรดซัลฟุริก ซึ่งมีฤิทธิ์กัดกร่อนสูง จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อที่เป็นเมือก เกิดการระคายเคืองไหม้อย่างรุนแรงของจมูก ลำคอ และระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการน้ำท่วมปอด เจ็บคอ หายใจติดขัด และหายใจถี่รัว การหายใจเอาสารที่มีความเข้มข้นสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้

- การกินหรือกลืนเข้าไป เกิดอาการระคายเคืองและไหม้ ของจมูก ลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ผิวหนังเย็นชืด หายใจติดขัด ปัสสาวะน้อย เกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้

.

ผลกระทบจากการสัมผัสเป็นเวลานาน

- เฉียบพลัน ระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง กระจกตาเสียหาย ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน

- เรื้อรัง กัดกร่อนเคลือบฟัน เกิดอาการอักเสบของจมูก ลำคอ หลอดลม ปอด

- สารก่อมะเร็ง  สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติได้จำแนกไว้ว่า หมอกควันกรดอนินทรีย์แก่ ซึ่งมีส่วนประกอบของกรดซัลฟุริก (Strong inorganic acid mist containing sulfuric acid ) “ เป็นสารก่อมะเร็งลำดับชั้นที่ 1 ซึ่งสารตัวนี้เป็นวัตถุหรือเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมนุษย์ แต่การจัดจำแนกนี้ไม่ได้รวมถึง กรดซัลฟุริกในรูปของเหลว หรือสารละลายที่บรรจุอยู่ในแบตเตอรี่

.

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

- ผิวหนัง ถอดชุดที่สัมผัสกับกรดซัลฟุริกออกให้หมด รวมทั้งรองเท้าด้วย ฉีดล้างผิวหนังด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที ถ้ายังมีอาการผิวหนังไหม้ ควรรีบส่งแพทย์ อย่าใช้ขี้ผึ้งยาหรืออัลคาไลน์ เพราะอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาในภายภาคหน้า

- ดวงตา ถ้าสัมผัสถูกตา ให้ฉีดล้างตาทันทีด้วยน้ำปริมาณที่มากอย่างน้อย 15 นาที ขยับเปลือกตาขึ้นลงเป็นครั้งคราว รีบนำส่งแพทย์

- การสูดดม ขีดจำกัดการสัมผัสในอากาศ ภายใต้คำแนะนำของ

OSHA Permissible Exposure Limit (PEL) = ไม่เกิน 1 mg/m3 (TWA) หรือ 0.25 ppm. @ 25°C

ACGIH Threshold Limit Valve (TLV) = ไม่เกิน 1 mg/m3 (TWA) หรือ 0.25 ppm. @ 25°C

STEL  = ไม่เกิน 3 mg/m3 (TWA) หรือ 0.75 ppm. @ 25°C

ถ้าสูดดมเข้าไปมากเกินกำหนด ให้รีบนำผู้ป่วยไปยังที่อากาศบริสุทธ์และถ่ายเท กรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจนช่วย รักษาร่างกายของผู้ป่วยให้อบอุ่นและอยู่นิ่ง แล้วรีบนำส่งแพทย์ทันที

.

การกินหรือกลืนเข้าไป ถ้ากินหรือกลืนเข้าไป กรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะ อย่ากระตุ้นให้อาเจียน ให้ผู้ป่วยบ้วนล้างปากด้วยน้ำ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 200 – 300 มิลลิลิตร หรือให้ดื่มน้ำปูนใส  [ lime water: สารละลายแคลเซียมไฮดรอกไซด์ Ca(OH2)(aq) ] หรือดื่มน้ำนมแมกนีเซีย ( ยาถ่ายน้ำขาว ) [ milk of magnesia : สารแขวนลอยของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์        Mg(OH)2 ในน้ำมีลักษณะขาวขุ่นใช้เป็นยาถ่ายท้อง ( laxative ) ] ห้ามให้ยากระตุ้นการอาเจียน ( emetics ) หรือผงฟู [ baking soda :โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต ( NaHCO3 ) ] รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ ส่วนกรณีการรักษาอื่นๆ อยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง อาการเกี่ยวกับปอดบวมอักเสบ บางทีอาจจะมีขึ้น

.
การใช้และการเก็บรักษา

1.ถังเก็บสารเคมี ที่ใช้เก็บกรดซัลฟุริก ควรจะมีโครงสร้างของเหล็กกล้าคาร์บอน โดยมีความหนาเพียงพอและทนต่อสภาพการกัดกร่อน ไม่ควรใช้ถังพลาสติก

2.ถังเก็บควรถูกออกแบบให้สามารถเข้าถึงช่องคนลอด และหัวฉีดได้มีรูระบายอากาศ ในขนาดที่พอเหมาะเพื่อที่จะได้รักษาสภาพถังเก็บที่ความกดของบรรยากาศ

3.ถังเก็บควรมีช่วงที่ถังว่างและทำความสะอาดโดยถือว่าเป็นช่วงหยุดพัก เพื่อที่จะให้ผู้ตรวจสอบ ได้ตรวจสอบสภาพการกัดกร่อนภายในถังเก็บ

4.ถังเก็บที่ใช้บรรจุกรดซัลฟุริกในปริมาตรที่ต่ำกว่า 14,000 gallon (53 m3) ส่วนมากจะใช้ถังเก็บแบบทรงกระบอกแนวนอน ที่มีหัวถังแบบจาน ส่วนถังเก็บที่มีความจุเกินกว่านั้น นิยมใช้ถังเก็บแบบทรงกระบอกแนวตั้ง ที่มีก้นถังแบนและมีด้านบนแบบทรงกรวยหรือทรงกลม

5.เมื่อมีการซ่อมแซมถังเก็บควรจะกระทำในขณะที่ถังปราศจากสารเคมี โดยต้องมีการไล่อากาศก่อนที่จะมีการซ่อมแซมถัง เพื่อที่จะไม่ให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนที่จะทำให้ติดไฟได้ โดยเมื่อช่องคนลอดถูกเปิดออก ให้ใช้เครื่องเป่าลมหรือเครื่องอัดอากาศทั้งก่อนและระหว่างทำการเชื่อม ควรที่จะมีเครื่องวัดสภาพอากาศที่เป็นอยู่ทั้งก่อนและระหว่างทำการเชื่อม เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าไอ อยู่ในขีดต่ำที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้ได้ เมื่อทำการซ่อมแซมภายในถังเสร็จแล้ว ควรมีการไล่อากาศอีกครั้ง หนึ่ง ทำความสะอาดถังโดยใช้น้ำชำระล้างและทำอยู่ในสภาพเป็นกลาง ก่อนที่จะใช้งานอีกครั้ง

6.ปลั๊กอุดวาล์วภายในถังเก็บ ควรเป็นพอร์ชเลน ส่วนท่อ ควรเป็นเหล็กกล้าและเสริมโครงสร้างด้วยโพลีโพรพีลีน เพื่อที่จะช่วยลดการก่อตัวของตะกอนเหล็กซัลเฟต ขึ้นภายในถัง

7.ควรมีการเลือกใช้เครื่องมือวัดที่มีประสิทธิภาพในการวัดจำนวนกรดซัลฟุริกในถังเก็บ ซึ่งเครื่องมือวัดมีหลายชนิด ได้แก่ เครื่องวัดมาโนมิเตอร์เครื่องวัดแรงเครียดพร้อมตัวตัวแสดงผล อิเล็คโทรนิคเซ็นเซอร์ หรือบางครั้งที่ตัวถังเก็บเองก็มีมาตรสเกลบอก

8.ถังเก็บควรจะมีทางเดินด้านบนที่เป็นเหล็กกล้า เพื่อใช้สำหรับพนักงานที่จำเป็นต้องขึ้นไปบนถังเก็บ

9.เมื่อทำงานใกล้ถังเก็บหรือเปิดถังเก็บ ควรใช้อุปกรณ์ทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟและแสง ห้ามสูบบุหรี่

10.ควรมีคอกกั้นถังเก็บ เพื่อแยกถังเก็บให้เป็นสัดส่วน โดยมีประตูเปิด-ปิด สำหรับการเชื่อมต่อกับรถขนถ่ายหรือการขนส่ง

11.ไม่ควรใช้ถังเก็บเพื่อจุดประสงค์อื่น

12.ควรจะปูพื้นด้วยหินปูนหรือวัสดุที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีต หรือวัสดุใกล้เคียงและอาจเสริมโครงสร้างวัสดุด้วยโพลีโพรพีลีนหรือเคลือบด้วยโพลีเอสเตอร์วัสดุที่ใช้ควรต้านทานต่อกรดหรือทำให้สารเคมีที่หกรั่วไหลเล็กน้อยมีสภาพเป็นกลางได้ และสามารถที่จะระบายน้ำที่ขังออกได้ง่าย

13.ถึงแม้ว่ากรดซัลฟุริกจะไม่ใช่สารไวไฟ แต่ควรที่จะเก็บให้ห่างจากเบสแก่สารประกอบอินทรีย์ คาร์ไบด์ คลอเรต ผงโลหะ ไนเตรตแสง ความร้อน ไอน้ำ และสารที่เข้ากันไม่ได้ เก็บไว้ในที่เย็น แห้ง และมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี

14.ถังเก็บแม้ว่าจะเป็นถังเปล่า แต่ถ้ายังคงเหลือเศษเพียงเล็กน้อยของไอ และของเหลวของกรดซัลฟุริก ก็ถือว่ายังอันตรายอยู่ ดังนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังและไม่ประมาท

.

ระบบการแจกจ่ายกรดโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 วิธี คือ

- ระบบแรงโน้มถ่วง วิธีนี้กรดซัลฟุริกจะถูกจัดเก็บในสภาพบรรยากาศหรือไร้แรงกดดัน ภายใต้สภาวะแวดล้อมนี้ ถังเก็บจะถูกยกขึ้นไว้บนที่สูงและใช้ระบบแรงโน้มถ่วงถ่ายเทกรดลงไปสู่กระบวนการต่าง ๆ  จัดว่าเป็นระบบที่ปลอดภัยและช่วยในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย

- ระบบปั๊ม สถานที่ปฏิบัติงานใด ๆ ที่ไม่สามารถใช้ระบบแรงโน้มถ่วงได้ ระบบปั๊มจะถูกนำมาใช้ แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นวิธีที่ไม่แนะนำและควรหลีกเลี่ยง ถ้าเป็นไปได้

- ระบบอัดลม เป็นการอัดลมของถังเก็บเพื่อแจกจ่ายกรด ถือว่าเป็นอีกวิธี หนึ่ง ที่ไม่แนะนำ เพราะอาจเกิดการรั่วไหลได้ เมื่อจะเจือจาง กรดซัลฟุริก ควรที่จะค่อย ๆ เติมกรดลงในน้ำ คนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการหกเรี่ยราดและควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเจือจาง อย่าเติมน้ำลงในกรด หลีกเลี่ยงการสูดดม และการสัมผัสถูกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ทุกครั้งที่ต้องปฏิบัติงาน และควรมีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ เพียงพอในการที่จะใช้และป้องกัน

.

อันตรายจากกรดซัลฟุริก

- กรณีเกิดไฟไหม้จากการใช้กรดซัลฟุริกและมาตรการดับไฟ สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ เนื่องจากกรดซัลฟุริกเข้มข้นจะเป็นตัวขจัดน้ำ คือ สามารถที่จะดึงน้ำออกจากสารอื่น ๆ ได้ และเมื่อทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ ก็ก่อให้เกิดการจุดติดไฟขึ้นได้

- สาเหตุของการระเบิด สัมผัสกับโลหะแล้วเกิดกาซไฮโดรเจนขึ้นทำให้เกิดการระเบิดได้

- สารดับเพลิง ผงเคมีแห้ง โฟมดับไฟ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) วัสดุชุ่มน้ำ เช่น ถุงกระสอบชุบน้ำ แต่อย่าใช้น้ำฉีดพ่นไปที่กรด

- กรณีหกหรือรั่วไหล ควรกั้นบริเวณสารหกแยกออกจากบริเวณอื่น จากนั้นหยุดการไหลของสาร แล้วให้ดูดซับสารที่หกหรือรั่วไหลด้วยทรายที่แห้ง ดิน สารอนินทรีย์ หรือทำให้เป็นกลางโดยโซดาแอซ โซเดียมไบคาร์บอเนต ปูนดิบ อย่าใช้วัสดุที่ไหม้ไฟได้ เช่น ขี้เลื่อย เก็บส่วนที่หกรั่วไหลในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิดเพื่อนำไปกำจัด ล้างบริเวณสารหกรั่วไหลหลังจากสารเคมีถูกเก็บกวาดเรียบร้อยแล้ว ป้องกันไม่ให้สารเคมีที่หกรั่วไหล ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ แม่น้ำ และแหล่งน้ำอื่น ๆ ให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม

.

การกำจัดของเสีย เก็บของเสียไว้ในถังบรรจุของเสียปิดให้มิดชิด แล้วปฏิบัติตามกฏระเบียบที่ทางราชการกำหนด

การควบคุมเชิงวิศวกรรม ใช้และจัดเก็บอย่างถูกต้อง ภายใต้สถานที่ระบายอากาศได้ดี มีระบบป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน คือ การสวมใส่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การเลือกใช้ชุดและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม จะช่วยสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นและระยะเวลาในการสัมผัสกับสารเคมีที่จะเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน

1.กระบังป้องกันใบหน้าแบบเต็มส่วนหมวกนิรภัย  แว่นตาและถุงมือจะต้องถูกใช้ทุกครั้งเมื่อปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้กรดซัลฟุริก ห้ามใช้คอนแทคเลนส์เมื่อใช้งานกรดซัลฟุริก

2. การเลือกประเภทถุงมือ  แนะนำให้ใช้ถุงมือที่ทำมาจากวัสดุประเภท Laminated film ซึ่งควรมีระยะเวลาที่จะทำให้เกิดการซึมผ่านผนังของถุงมือ มากกว่า 480 นาที และควรมีอัตราการเสื่อมสภาพของถุงมือ  อยู่ในระดับต่ำ และไม่แนะนำให้ใช้ถุงมือที่ทำมาจากวัสดุประเภท Nitrile , Supported Polyvinyl Alcohol, Natural Rubber, Neoprene/Natural Rubber Blend ถุงมือควรมีการตรวจสอบก่อนที่จะใช้ ถ้าคาดว่าถุงมือจะเสียหาย แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ให้ใช้วิธีการตรวจสอบโดยการใช้แรงดันลม เมื่อสวมเสื้อคลุมชุดป้องกันอันตราย ให้ใช้แขนเสื้อคลุมถุงมือในส่วนข้อมือด้วย แต่ถ้าต้องทำงานในลักษณะเอื้อมมือเหนือศีรษะ อาจเป็นไปได้ที่ละอองของกรดจะเข้ามาทางแขนเสื้อ ดังนั้น จะเป็นการดีมากกว่าถ้าเอาแขนเสื้อเข้าไปในถุงมือ

3.สำหรับพนักงานที่ต้องทำงานในการขนถ่ายสารเคมีจากรถ ต้องใส่ชุดป้องกันเต็มรูปแบบ คือ สวมใส่แว่นตา แล้วสวมกระบังป้องกันใบหน้าแบบเต็มส่วน หมวกนิรภัย ถุงเท้า ถุงมือ เสื้อคลุมและกางเกง ส่วนบนของรองเท้าควรถูกคลุมด้วยขากางเกง

.

ข้อแนะนำในการเลือกประเภทหน้ากากป้องกันระบบหายใจ

- กรณีที่สารที่ช่วงความเข้มข้นไม่เกิน 15 mg/m3

1.ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจประเภทที่ใช้การส่งอากาศสำหรับการหายใจ ซึ่งมีอัตราการไหล ของอากาศแบบต่อเนื่อง พร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่า APF. = 25 หรือ APF. = 50

2.ใช้อุปกรณ์ทำให้อากาศบริสุทธิ์  ซึ่งมี Cartridge สำหรับป้องกันก๊าซของสาร จำพวกกรด และอุปกรณ์กรองอนุภาคประสิทธิภาพสูง พร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่า APF. = 25 หรือ APF. = 50

3.ใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ซึ่งใช้สารเคมีประเภทที่เหมาะสมเป็นตัวดูดซับในการกรอง พร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า พร้อม Cartridge สำหรับป้องกันก๊าซของสารจำพวกกรด และอุปกรณ์กรองอนุภาคประสิทธิภาพสูง โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่า APF. = 50

4.ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดที่มีถังอากาศในตัวพร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่าAPF. = 50

.

ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อการเข้าไปสัมผัสกับสารที่ไม่ทราบช่วงความเข้มข้น หรือการเข้าไปในบริเวณที่มี สภาวะอากาศที่เป็น IDLH

1.ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดที่มีถังอากาศในตัวพร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า ซึ่งมีการทำงานแบบความดันภายในเป็นบวก โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่า APF. = 10,000

 2.ใช้อุปกรณ์ส่งอากาศสำหรับการหายใจ พร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า ซึ่งมีการทำงานแบบความดันภายในเป็นบวก หรือแบบที่ใช้การทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีถังอากาศในตัว และแบบความดันภายในเป็นบวก โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่า APF. = 10,000

.

- ในกรณีการหลบหนีออกจากสถานการณ์ฉุกเฉิน

1.ให้ใช้อุปกรณ์ทำให้อากาศบริสุทธิ์ พร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า ซึ่งมี Canistridge สำหรับป้องกันก๊าซของสารจำพวกกรด และอุปกรณ์กรองอนุภาคประสิทธิภาพสูง

2. ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับในกรณีการหลบหนีออกจากสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีถังอากาศในตัว โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่มีค่า APF.=50

3.ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ควรที่จะมีการชะล้างทำความสะอาดหลังจากใช้งาน และควรทำให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีรูรั่วหรือรอยฉีกขาด การบำรุงรักษาชุดและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าได้มีการเตรียมพร้อมเสมอ ในยามที่ต้องใช้หรือแม้กระทั่งเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน

4. ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เลือก ควรคำนึงถึงน้ำหนักและการซึมผ่านของสารเคมี มีการระบายความร้อนที่ดี และควรมีการจัดหาเพิ่มเนื่องจากจะมีอัตราการหมุนเวียนกันใช้ เช่น ชุดคลุม ในปริมาณที่สูงขึ้นในช่วงที่อากาศร้อน

5.ในสถานที่มีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกรดซัลฟุริกที่มีความเข้มข้นสูง ต้องมีสถานที่เตรียมไว้สำหรับการล้างตา        มีฝักบัวฉุกเฉิน และมีน้ำจำนวนไม่จำกัด อุณหภูมิของน้ำ ควรจะอยู่ประมาณ 27°C  (80°F) โดยน้ำที่ออกจากฝักบัวควรจะเป็นสายที่ต่อเนื่องไม่ใช่ฝอยเอื่อย ๆ และทางเดินที่จะเข้าไปใช้ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง สังเกตได้ง่าย และต้องมีการประชาสัมพันธ์หรือติดป้ายให้พนักงานได้รับทราบ และต้องมีการทดสอบทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานทุกเมื่อ

5.ติดป้ายเตือนในบริเวณที่มีถังเก็บกรดซัลฟุริกไว้ เช่น อันตรายจากถังบรรจุกรดซัลฟุริก วัตถุเป็นพิษทำให้เกิดอาการไหม้อย่างรุนแรงได้ เป็นต้น

6.ถังขนาดใหญ่ ซึ่งบรรจุโซดาแอซ (โซเดียมคาร์บอเนต: Na2CO3) หรือสารละลายอัลคาไลน์อย่างอ่อน ควรถูกติดตั้งไว้ เพื่อใช้ในการทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนกับกรดซัลฟุริกมีสภาพเป็นกลาง

7.ฝึกนิสัยการทำงานและสุขอนามัย ให้แก่พนักงาน โดยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสและการสูดดมหมอกควันกรดซัลฟุริก ไม่กิน ดื่ม หรือสูบบุหรี่ในสถานที่ปฏิบัติงาน ล้างมือ แขน ก่อนที่จะรับประทานอาหาร หรือใช้ห้องพัก

.

การขนส่ง ชื่อที่ใช้ในการขนส่ง คือ Sulfuric acid เป็นสารประเภทอันตราย 8 โดยมีรหัสว่า UN/ID No. : 1830จัดเป็นสารประเภทกัดกร่อน : Corrosive ซึ่งมีการขนส่งมี 2 ประเภท ดังนี้

.

- ใช้รถที่มีถังบรรจุในตัว

1.ใช้ในการบรรจุสารเคมีไม่เกิน 13,000 gallon (50.3 m3) เป็นรถที่มีถังบรรจุที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กกล้า ถังเก็บที่ใช้เก็บสารเคมีสำหรับถ่ายเทใส่รถ ควรมีขนาดเท่ากันหรือเท่าครึ่ง หรือบรรจุสารเคมีให้เพียงพอสำหรับ 10 วัน

2.สายยางที่ใช้สำหรับถ่ายเทสารเคมีควรถูกเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงด้วยเส้นใยTFE (Polytetrafluoroethylene)

ซึ่งมีคุณสมบัติเฉื่อยต่อสารเคมีและตัวทำละลายเป็นพิเศษ ทนทานต่อความร้อน มีความเหนียว เป็นฉนวนไฟฟ้าได้ดี และสายยางควรจะมีวาล์ว  ซึ่งติดถาวรกับท่อที่ใช้ในการถ่ายเทสารเคมี เมื่อจะใช้ควรตรวจสอบอัตราแรงดัน  ให้สัมพันธ์กับแรงดันของระบบจัดเก็บ

3.ถังที่จะใช้บรรจุกรดซัลฟุริก ควรจะสะอาดและอัดอากาศแห้ง เพื่อที่จะพร้อมสำหรับการขนส่ง การอัดอากาศควรจะมีอัตราการไหลของอากาศประมาณ 1,015 cfm (0.0047 – 0.0071 m3/s) แรงดันอากาศไม่ควรเกิน 30 psig (207 kPa) เมื่อทำการถ่ายเทสารเคมี ควรมีป้ายหรือสัญลักษณ์บอกหรือแจ้งให้ผู้ที่อยู่ใกล้ได้ทราบ

4.รูระบายอากาศเมื่อเริ่มที่จะทำการถ่ายเทสารเคมี ต้องค่อย ๆ หมุนรูระบายอากาศอย่างช้า ๆ เพื่อที่จะระบายแรงดันภายในออก ควรจะพิจารณาเป็นพิเศษในกรณีที่อยู่ในสภาวะอากาศร้อน แรงดันที่สูงขึ้นอาจก่อให้เกิดสารไวไฟก๊าซไอโดรเจน และ/หรือ SO3 และ SO3 fume ถ้าแรงดันถูกระบายอย่างรีบร้อน จะก่อให้เกิดอันตรายจากละอองของกรดที่ติดออกมากับอากาศที่เล็ดลอดออกมา

5.ค่อย ๆ ปรับแรงดันอากาศอย่างช้า ๆ จนกระทั่งกรดได้ไหลเข้าไปยังถังเก็บหลังจากนั้นปรับแรงดันอากาศเพื่อรักษาสภาพการไหลให้คงที่ จนกระทั่งถ่ายเทกรดหมด

6.เครื่องมือทุกชิ้น ควรจะทำความสะอาด ทำให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง เก็บไว้พร้อมที่จะใช้งานครั้งต่อไป ทุก ๆ หยดของสารเคมีจากการถ่ายเทที่ติดอยู่ตามจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ต้องถูกทำให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง รวมถึงถัง   ที่ยืนและตัวรถต้องถูกทำความสะอาดด้วยเช่นกัน

.

- การขนส่งโดยใช้ถังใหญ่

1.กรดซัลฟุริกจะถูกขนส่งในถังที่ทำด้วยเหล็กกล้าที่สามารถบรรจุได้ถึง 3,000 gallon (11.4 m3) ขึ้นอยู่กับกฏหมายเกี่ยวกับการขนส่งในแต่ละประเทศที่จะอนุโลมให้น้ำหนักบรรทุกวิ่งบนถนนได้เท่าไร ถังเก็บควรมีขนาดบรรจุอย่างน้อย 5,000 gallon (18.9 m3) หรือเพียงพอสำหรับ 10 วัน

2.เป็นเรื่องปกติที่คนขับรถต้องใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ควรถูกฝึกมาโดยเฉพาะสำหรับการขนถ่ายสารเคมี รู้จักใช้จุดเชื่อมต่อ ต่าง ๆ สำหรับถ่ายเทสารเคมีและความดัน และสามารถใช้เครื่องอัดลมที่ติดตั้งในตัวได้ ส่วนแรงดันที่ใช้ในการถ่ายเทต้องไม่เกิน 30 psig (207 kPa)พึงระลึกอยู่เสมอในเรื่องของความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียหายตามมาภายหลัง

.

กรณีฉุกเฉินโปรดใช้บริการระบบให้บริการข้อมูลการระงับอุบัติภัยจากสารเคมีทางโทรศัพท์หรือสายด่วน AVERS ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 1650 หรือหากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อกองจัดการสารอันตรายและกากของเสีย กรมควบคุมมลพิษ โทร. 0-2298-2447, 0-2298-2457

.

เอกสารอ้างอิง

- MSDS,Sulfuirc acid:Mallinckrodt Baker

- Recommendations For The Storages And Handling Of Commercial Sulfuric Acid ;General Chemical Corporation

- เอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์ (MSDS) :กรดซัลฟุริก โดยกรมควบคุมมลพิษ