เนื้อหาวันที่ : 2011-04-28 13:16:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1348 views

นิด้าเตือนสารพัดปัญหาจ่อคิวรอ นโยบายคลังต้องชัดเจน

จับตานโยบายการคลังหัวเลี้ยวหัวต่อ ช่วงเปลี่ยนรัฐบาล ชี้เศรษฐกิจผันผวน สารพัดปัญหาจ่อคิวรุมเร้า แนะรัฐบาลใหม่จัดโครงสร้างส่งออก ลดช่องว่างกระจายรายได้

          จับตานโยบายการคลังหัวเลี้ยวหัวต่อ ช่วงเปลี่ยนรัฐบาล ชี้เศรษฐกิจผันผวน สารพัดปัญหาจ่อคิวรุมเร้า แนะรัฐบาลใหม่จัดโครงสร้างส่งออก ลดช่องว่างกระจายรายได้ อย่าก่อหนี้เพิ่ม

          นิด้าชี้นโยบายการคลังก่อนเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องกำหนดทิศทางให้ดี เหตุเศรษฐกิจผันผวนรัฐบาลรักษาการมีเครื่องมือจัดการได้ไม่มาก แถมหากรัฐบาลใหม่ลงตัวช้าก็จะกระทบต้องเลื่อนอนุมัติ พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 ออกไป แถมยังมีปัญหาเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ดอกเบี้ยขึ้น กำลังซื้อลด ต่างประเทศมีปัญหาส่งออกหด จ่อคิวรอ แนะรัฐบาลใหม่ต้องจัดโครงสร้างการส่งออกให้ดีและมีช่องว่างการกระจายรายได้ให้น้อยลง

          รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า นโยบายการคลังในช่วงรอยต่อก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังรัฐบาลใหม่ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะรัฐบาลรักษาการต้องดำเนินการตามกรอบซึ่งได้เสนอเข้าสภาไปแล้วเท่านั้น ระหว่างทางไม่มีอำนาจที่จะปรับเปลี่ยนได้ หากมีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าก็จะมีเครื่องมือทางการคลังเพื่อจัดการได้น้อยลง

          ขณะที่ร่างของกรอบ พรบ.งบประมาณปี 2555 มูลค่า 2.25 ล้านล้านบาทซึ่งได้มีการเสนอไปแล้ว ก็เป็นงบประมาณขาดดุลที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับถึง 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องระมัดระวังมากขึ้นในการก่อหนี้เพิ่มเติมเนื่องจากการที่มีงบประมาณจ่ายมากกว่างบประมาณรายรับอย่างต่อเนื่องหลายปีจะส่งผลต่อฐานะการคลังที่มีการขาดดุลงบประมาณทำให้ต้องเก็บภาษีเพิ่มในอนาคต

นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายกว่า 80% ก็ยังอยู่ในรูปของรายจ่ายประจำ เป็นเงินเดือนของข้าราชการราว 1.92 ล้านคน หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ทำให้มีงบรายจ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหลือไม่มาก ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไปได้

          ทั้งนี้ระหว่างช่วงหลังยุบสภาไปแล้ว ร่าง พรบ.งบประมาณปี 2555 ที่ต้องรอผ่านวาระ 2 และ 3 ซึ่งปกติจะต้องเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคมก็จะต้องยืดเวลาออกไป หากการเลือกตั้งไม่มีปัญหาสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ใน 3 เดือนนับแต่การยุบสภาคือประมาณเดือนสิงหาคม ก็อาจทำให้ พรบ.ล่าช้าไม่ทันประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมได้

แต่หากพรบ.มีปัญหาไม่สามาถผ่านสภาได้ก็จะต้องนำกรอบของปี 2554 มาใช้แทนก่อน ซึ่งก็จะเป็นงบประมาณรายจ่ายที่ไม่มากเท่าของปี 2555 และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้สะดุดได้ แต่ข้อดีก็คือการที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายใหม่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเชิงจิตวิทยา และเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจไปถึงปลายปีนี้ได้

          สำหรับสิ่งที่ว่าที่รัฐบาลใหม่ต้องจับตามองก็คือ ในปีนี้จะมีอัตราเงินเฟ้อสูง และการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลงได้ รวมถึงปัญหาวิกฤติในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ส่วนยุโรปก็ยังทรงๆตัวหลังจากที่ กรีก ไอแลนด์ โปรตุเกส ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ

ขณะที่อเมริกาก็มีแนวที่เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นบ้าง ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย นอกจากนั้นแล้วจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางกาารเมืองในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ก็จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็จะมีผลต่อราคาปัจจัยการผลิตที่กระทบค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ

โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยที่จะมีการขึ้นเงินเดือน 5% สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ก็จะเป็นปัจจัยเสริมมาผสมทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้รุนแรงขึ้น ทำให้ ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อแก้ปัญหา และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เป็นปัญหาลูกโซ่

          ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจึงต้องดูแลปัญหาข้าวของแพง รวมถึงต้องกระจายและจัดโครงสร้างการส่งออกให้ดีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยต้องเน้นไปยัง จีน อินเดีย และกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมาก และมีศักยภาพการเติบโตสูงเป็นเป้าหมายในการส่งออก

          นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันมาจากการเติบโตที่ไม่สมดุลย์กัน จากการสะท้อนให้เห็นจากรายได้ แม้จะเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมากว่า 20 ปีแล้วแต่นับวันจะมีช่องว่างมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนถือเป็นปัญหาระดับประเทศที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบแก้ไข