เนื้อหาวันที่ : 2011-04-28 11:22:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 924 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 27 เม.ย. 2554

1. ธปท.ระบุปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา ยังไม่กระทบเศรษฐกิจมหภาค
-  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงปัญหาชายแดนไทย – กัมพูชา ในขณะนี้ ว่า หากสามารถจำกัดการปะทะไม่ให้ขยายวงกว้างได้ ผลกระทบต่อการค้าชายแดนคงมีไม่มากนัก และไม่กระทบกับเศรษฐกิจมหภาค เพราะมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชามีไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการส่งออกรวม

-  สศค.วิเคราะห์ว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่ชายแดน ไทย – กัมพูชา นั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยมากนัก เนื่องจากปัจจุบันประเทศกัมพูชา เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 22 ของไทย มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 752.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 53 และยังมีสัดส่วนการส่งออกที่น้อยกว่า ร้อยละ 1 จากสัดส่วนการส่งออกของไทยทั้งหมด ซึ่งสินค้าที่ส่งออกหลักๆ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม และปูนซีเมนต์ โดยในเดือน มี.ค. 54ขยายตัวร้อยละ 12.4 3.9 3.2 6.5 และ 4.4 ตามลำดับ

2. โตโยต้าพร้อมเร่งผลิต รองรับยอดจองหลังวิกฤติชิ้นส่วนญี่ปุ่น
-  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้บริษัทฯ ได้ประกาศลดกำลังการผลิตร้อยละ 50  และงดการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน  แต่บริษัทฯ ก็ยังสามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้ตามปกติเนื่องจากมีการผลิตล่วงหน้าไว้แล้ว  อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งแต่เดือน พ.ค.54 เป็นต้นไป  ลูกค้าจะเริ่มได้รับการส่งมอบรถยนต์ล่าช้าจากผลกระทบของฐานการผลิตชื้นส่วนรถยนต์ที่ญี่ปุ่น

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาฐานการผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์เสียหายในประเทศญี่ปุ่นได้ส่งผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต้องลดกำลังการผลิตลงเนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ ดังจะเห็นได้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์เดือน มี.ค.54 หดตัวลงร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะส่งกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกยานยนต์ของไทยในระยะสั้น 

ทั้งนี้ ในปี 53 ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นอันดับหนึ่งของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 15.7 ของการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งหมด  และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 54 ยอดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยยังคงขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 64.0 อย่างไรก็ดี แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

3. จีนสั่งธนาคารรายใหญ่ปรับขึ้นเงินทุนสำรองให้สูงกว่า 11.5 %
-  สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนสั่งการธนาคารรายใหญ่สุด 5 แห่ง ปรับขึ้นเงินทุนสำรอง (Capital Requirement) ให้อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 11.5 เพื่อควบคุมปริมาณเงินและชะลอการเกิดภาวะฟองสบู่ของสินเชื่อ  โดยเมื่อเดือน มี.ค.54 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งจีน หรือ ไอซีบีซี ธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน ธนาคารแห่งประเทศจีน และธนาคารเพื่อการสื่อสาร ปรับขึ้นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 11.8

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลจีนได้สั่งการให้ธนาคารปรับเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 11.5 นั้น เป็นไปตามนโยบายเพื่อควบคุมปริมาณเงินและชะลอการเกิดวิกฤตภาวะฟองสบู่ของสินเชื่อ โดยปัจจุบัน ณ เดือน มี.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 32 เดือน  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 year deposit และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 year lending อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.25 และ 6.31 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 9.7 ซึ่ง สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ร้อยละ  9.0 ในปี 5    

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง