เนื้อหาวันที่ : 2011-04-27 10:18:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1279 views

จี้รัฐเร่งออกกฎหมายหนุนเอกชนลงทุนนอกก่อนหมดวาระ

เอกชนออกโรงจี้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ หวั่นยืดเยื้อหลังสู้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนไม่ไหว ด้านบีโอไอเล็งปั้นยุทธศาสตร์หนุนลงทุนเพื่อนบ้าน รับประชาคมอาเซียน

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

          เอกชนออกโรงจี้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ หวั่นยืดเยื้อหลังสู้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนไม่ไหว ด้านบีโอไอเล็งปั้นยุทธศาสตร์หนุนลงทุนเพื่อนบ้าน รับประชาคมอาเซียน

          เอกชนจี้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศก่อนหมดวาระ ห่วงยืดเยื้อไม่ทันต่อความจำเป็นของนักธุรกิจไทยที่ต้องออกไปปักหลักลงทุนในต่างประเทศ หลังสู้ปัญหาวัตถุดิบแพง-ขาดแคลนไม่ไหว "บีโอไอ" แจงผลการศึกษาเล็งปั้นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็งจากเนื้อปลาภายใต้แบรนด์ "พีเอฟพี" เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรเร่งออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศออกมาโดยเร็วที่สุด

เนื่องจากปัจจุบันความพร้อมด้านวัตถุดิบของประเทศไทยมีน้อยลง อีกทั้งค่าแรงยังพุ่งสูงขึ้น อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปที่มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบมานานแล้ว เพราะน่านน้ำไทยขาดความอุดมสมบูรณ์จึงต้องนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาลู่ทางในการออกไปลงทุนในประเทศที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรเพื่อลดต้นทุนในการผลิต

         "วันนี้อุตสาหกรรมไทยบางประเภทไม่สามารถทำได้แล้วในประเทศไทย เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนไทยไปต่างประเทศก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ ไม่เช่นนั้น เรื่องนี้ก็จะยืดเยื้อออกไปอีกจากที่ใช้เวลามานานพอสมควรแล้ว"

          นายทวี กล่าวด้วยว่า สำหรับบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย โดยจะเป็นการลงทุนขนาดกลางในการผลิตซูริมิ ปลาป่น และโรงน้ำแข็ง ซึ่งเป็นการลงทุนที่ครบวงจร มูลค่าการลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อส่งกลับมาขายที่ประเทศไทย เจาะตลาดในอินโดนีเซียและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุนระหว่างพีเอฟพี พันธมิตรจากประเทศเกาหลีและอินโดนีเซีย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการลงทุนภายใน 6 เดือนนับจากนี้

          แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศว่า หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้พิจารณายุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 และมีมติให้บีโอไอจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ควรมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับการลงทุนไทยในต่างประเทศเพียง 5 สาขา คือ สาขาเกษตร สิ่งทอและเสื้อผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ท่องเที่ยวและบริการ กิจการก่อสร้าง กิจการที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เนื่องจากมีอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพและสนใจไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการโทรคมนาคม เป็นต้น

          พร้อมกันนี้ เห็นว่าควรพิจารณายุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ แยกจากยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศอื่นๆ เนื่องจากในเร็วๆ นี้จะมีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในต่างประเทศแล้วควรมีการส่งเสริมให้เชื่อมโยงหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีไทยหรือส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงควรมีการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ลงทุนนำเงินกำไรจากการลงทุนกลับเข้าประเทศไทย

          ในประเด็นเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ กรมบัญชีกลางได้มีกฎระเบียบว่าจะต้องจัดตั้งเมื่อมีความจำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้น และควรคำนึงถึงข้อกฎหมายในการสนับสนุนทางการเงินให้กับภาคเอกชน และการที่กองทุนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่พึ่งพาการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐในอนาคต

          นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และควรมีพระราชบัญญัติเฉพาะที่ระบุอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าควรจัดตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นใหม่ หรือเป็นหน่วยงานย่อยภายใต้หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน หรือหน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาทั้งหมดจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และจะมีการสรุปความก้าวหน้าของการศึกษาของคณะที่ปรึกษามาให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554

ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย