เนื้อหาวันที่ : 2011-04-25 13:53:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2780 views

หลักธรรมรักษาโรคให้ชีวิตยืนยาว

วันนี้ขอนำเอาหลักพระธรรมจากหนังสือพระไตรปิฎก ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตให้อายุของคนเรายืนยาว มาให้ผู้อ่านได้ลองศึกษาเพื่อจะได้ประโยชน์ในการใช้ชีวิตกันบ้าง

ธนสาร สาสังข์

วันนี้ขอนำเอาหลักพระธรรมจากหนังสือพระไตรปิฎก ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตให้อายุของคนเรายืนยาว ว่ามีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร เช่น การบริหารกาย, การรู้จักอุปโภคบริโภค, การป้องกันทางจิตใจ, และการรักษาทางร่างกาย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ขอท่านผู้อ่านลองมาศึกษาและวิเคราะห์กันบ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

การที่คนเราจะมีอายุยืนยาวต่อไปได้จนกว่าจะแก่เฒ่าจนถึงวันตายด้วยการอยู่อย่างมีความสุขนั้น ไม่เพียงต้องคำนึงถึงแค่เรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์, การออกกำลังกาย, และยารักษาโรคเท่านั้น แต่ยังมีพฤติกรรมที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่นดังที่พระพุทธองค์ตรัวเอาไว้ว่า

ต้นเหตุที่ทำให้อายุยืน มีอยู่ ๗ ประการด้วยกันดังนี้คือ
๑. เป็นทำความสบายแก่ตนเอง
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย
๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
๔. เที่ยวไปในกาละอันสมควร
๕. ประพฤติเพียงดั่งพรหม (พรหม คือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา และอุเบกขา)
๖. เป็นผู้มีศีล
๗. คบมิตรที่ดีงาม

ต้นเหตุที่ทำให้อายุสั้น
กระทำในส่วนทิศทางตรงกันข้าม หากมีความประพฤติอันเป็นโทษภัยแก่ตนก็จะทำให้ผู้นั้นตายเร็วได้ มีอยู่ ๗ ประการด้วยกันดังนี้
๑. เป็นผู้ไม่ทำความสบายแก่ตนเอง
๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่ไม่สบาย
๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก
๔. เที่ยวไปในกาละอันไม่สมควร
๕. ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม
๖. เป็นคนทุศีล ละเมิดศีลเสมอๆ
๗. คบมิตรที่เลวทราม
(ตามพระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕-๑๒๖ “อนายุสสสูตรที่ ๑-๒)
 
นอกจากเหตุ ๗ ประการที่ช่วยให้อายุยืนยาวได้แล้ว ยังทีคำตรัสของพระพุทธองค์ที่ทรงกำชับไว้กับภิกษุและฆารวาสที่เจ็บป่วยอยู่ก็พึงอดทนรักษากรรม ๓ ของตนไว้ให้ดี หากทำได้ย่อมพาไปสู่ความเป็นผู้มีอายุยืนยาวและเป็นสุขอย่างแน่นอน กรรม ๓ อันได้แก่คือ ๑. ไม่ทำกายทุจริต ๒. ไม่ทำวจีทุจริต ๓. ไม่ทำมโนทุจริต พึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้มั่นไว้ (เพียรในกายสุจริต, เพียรในวจีสุจริต, เพียรในมโนสุจริต)

ชีวิตของคนเราจะอยู่ยั่งยืนนาน ทุกท่านเกิดมาเจอทั้งความสุขสมบูรณ์แข็งแรง แต่บางครั้งมาผจญโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนอยู่ประจำ ล้วนแต่คละเคล้ากันไปตามจังหวะของชีวิต แต่ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคโรคภัยใดๆ หากท่านผู้นั้นได้ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เข้าช่วยแล้ว อายุของผู้นั้นย่อมยืนยาวออกไปกว่าเดิมได้แน่นอน ดังเช่นเรื่องราวของพระพุทธองค์ที่มีมาในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๔ “มหาปรินิพานสูตร”

อิทธิบาท ๔ มี ๑.ฉันทะ คือความยินดี ๒. วิริยะ คือความเพียร ๓. จิตตะ คือความตั้งใจจริง ๔. วิมังสา คือความพิจารณาไตร่ตรอง อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปราถนาดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ดำรงอยู่อย่างมีความสุขและยืนยาว

ทั้งหลายทั้งปวงตามหลักของพระธรรมที่มีอยู่จริง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แล้วจะเกิดผลดีกับผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน และยังมีสิ่งอันเป็นมงคลที่จะนำพาส่งเสริมให้ชีวิตดำเนินไปอย่างสงบสุขสมบูรณ์ จะได้นำมาเสนอในฉบับต่อไป พระธรรมคำสอนพุทธองค์ไม่มีวันเสื่อมค่าล้าสมัย นำมาใช้ได้ทุกกาลเวลาไม่มีเปลี่ยนแปลง

ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ครองเรือนหรือฆารวาสครับ อย่าคิดว่าหลักธรรมในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ แต่แท้จริงแล้วผู้ที่อยู่ทางโลกนี้มีจำนวนมากที่สุด จึงควรจะนำมาศึกษาปรับใช้ในชีวิตประจำวันแล้วจะเกิดมงคลกับตัวเราอย่างมหาศาล

“ขอให้มุ่งมั่นย่อมทำได้ ถ้าตั้งใจย่อมสำเร็จ”