เนื้อหาวันที่ : 2011-04-25 10:13:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 932 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 11-22 เม.ย. 2554

การจ้างงานเดือน ก.พ. 54 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลงประมาณ 4.8 หมื่นคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวลงร้อยละ -0.1 โดยการจ้างงานภาคเกษตรมีจำนวน 12.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.2 แสนคน เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรบางชนิด

ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 8.4 ล้านคน ลดลง 3.3 หมื่นคน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนก.พ. 54 ที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 59.5 ของกำลังการผลิตรวม และการจ้างงานภาคบริการมีจำนวน 16.2 ล้านคน ลดลด 2.1 แสนคน จากสาขาที่พักแรม/บริการด้านอาหาร สาขาการขายส่ง ขายปลีก และสาขาการซ่อมยานยนต์

ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 1.1 แสนคน จากการจ้างงานภาคการเกษตรที่ลดลงตามปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนก.พ. 54 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.0 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 2.7 แสนคน เป็นผู้ว่างงานในภาคบริการ 9.5 หมื่นคน ภาคอุตสาหกรรม 6.0 หมื่นคน ภาคการเกษตร 3.6 หมื่นคน และผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 7.7 หมื่นคน

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,257.4พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5.6 พันล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 41.63 ของ GDP  ทั้งนี้ การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) โดยลดลงสุทธิ 7.9 และ 1.4 พันล้านบาท ตามลำดับ 

ในขณะที่หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 3.7 พันล้านบาท  สะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคง เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 132.3 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 และสูงกว่าประมาณการ 15.9 พันล้านบาทหรือร้อยละ 13.7 โดยภาษีที่สำคัญมาจากภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ (ผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)  ขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวนทั้งสิ้น 768.7 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.8 และสูงกว่าประมาณการ 98.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 14.3

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน มี.ค.54 ขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.1  โดยได้รับปัจจัยจากกำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 31.8 ในเดือนก.พ. 54  และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ในเดือน ก.พ. 54  ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 10.5 บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มี.ค. 54 หดตัวร้อยละ -21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 53.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกลดลงร้อยละ -8.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยการหดตัวดังกล่าว เป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการเร่งการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่สิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. 53 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 54 ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมขยายตัวร้อยละ 14.7

ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3  ทำให้ไตรมาส 1 ของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.4  และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก จะขยายตัวร้อยละ 3.4 จากไตรมาสก่อนหน้า  ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึงการลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง