เนื้อหาวันที่ : 2011-04-21 14:44:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2206 views

ปตท.จับมือยูเอซี ผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับรถยนต์

ปตท. - บ.ยูเอซี ผนึกกำลังร่วมมือผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ เพิ่มศักยภาพการให้บริการ NGV ในภาคเหนือ

           ปตท. - บ.ยูเอซี ผนึกกำลังร่วมมือผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ เพิ่มศักยภาพการให้บริการ NGV ในภาคเหนือ

          นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซชีวภาพอัด ที่ได้จากมูลสัตว์และน้ำเสียจากฟาร์มสุกร ที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มความดัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง NGV

          สำหรับรถยนต์ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) โดยนายกิตติ ชีวะเกตุ กรรมการผู้จัดการ

          นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. และ บริษัท ยูนิเวอร์-แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) จะร่วมมือกันพัฒนาผลิตก๊าซชีวภาพอัด หรือ Compressed Bio-methane Gas (CBG)

โดย บริษัทฯ จะเป็นผู้ผลิตและปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพจาก มูลสัตว์และน้ำเสียจากฟาร์มสุกรของบริษัท มงคล แอนด์ ซันส์ฟาร์ม จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นก๊าซชีวภาพอัดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ตามมาตรฐานและข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน จากนั้น ปตท. จะรับซื้อก๊าซชีวภาพอัด เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายก๊าซ NGV จากก๊าซชีวภาพอัดเชิงพาณิชย์ได้ในช่วง

          ต้นปี 2555 ด้วยความสามารถจ่ายก๊าซฯ ประมาณ 6 ตันต่อวัน เทียบเท่ากับเติมรถขนาดเล็กได้ 500 คันต่อวัน เติมรถขนส่งขนาดใหญ่ได้ 40 คันต่อวัน ซึ่งสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ประมาณปีละ 2.2 ล้านลิตร หรือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) ประมาณปีละ 1.6 ล้านตัน ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้กว่า 21 ล้านบาทต่อปี

          “ ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้ NGV เป็นพลังงานทดแทนในรถยนต์ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงให้กับประชาชนแล้ว ที่สำคัญ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ NGV ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ที่มีปริมาณการใช้ก๊าซ NGV เติบโตมากและเกิดปัญหาก๊าซขาดในบางช่วงเวลา

ทั้งนี้ ปตท. ไม่นิ่งนอนใจในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยได้พยายามบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจ่ายและการขนส่งก๊าซฯ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการให้บริการรถ NGV ทั้งรถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ขนาดใหญ่ได้อย่างเพียงพอมากขึ้น” นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติม

          นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล  แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) หรือ UAC กล่าวว่า บริษัทฯได้ทำการเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซชีวภาพอัด หรือ Compressed Bio-methane Gas (CBG) กับ ปตท. เป็นระยะเวลา15 ปี โดยเบื้องต้น

          คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซ CBG ได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2554 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มทดลองการผลิตได้ภายในปลายปี 2554

          สำหรับงบลงทุนในการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะมีกำลังการผลิตที่ 6 -8 ตัน / วัน หรือ ประมาณ 3,000 ตัน / ปี และจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งรับรู้รายได้จากการขายก๊าซ ตั้งแต่ต้น ปี 2555 เป็นต้นไป เฉลี่ยปีละประมาณ 50-60 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทฯในปี 2555 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นายกิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(CBG) เกิดจากกระบวนการผลิตโดยใช้มูลสุกร และวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปทาง การเกษตร และปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสียที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เปลี่ยนมาเป็นพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงและการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ และมีคุณภาพมากขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

          “ก๊าซ CBG ที่ผลิตมาจากโครงการดังกล่าว สามารถนำมาใช้ในรถยนต์ทดแทนน้ำมันที่ปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้โดยมีคุณภาพและประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับก๊าซ NGV ที่ ปตท. จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยบริษัทจะผลิตและส่งให้ ปตท.เป็นผู้จำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการนี้ 50-60 ล้านบาทในปี 2555”นายกิตติ กล่าว

          นายกิตติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การตั้งโรงงงานผลิตก๊าซ CBG ที่ภาคเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรก นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ก่อนที่จะขยายโครงการในเฟสต่อ ไปยังภาคอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่วมศึกษาและพัฒนากับพันธมิตร และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้