เนื้อหาวันที่ : 2011-04-21 11:38:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 966 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 21 เม.ย. 2554

1. ยอดส่งออกเดือน มี.ค.54 ขยายตัวร้อยละ 30.9 ทำให้ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3
-  รมต.ว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกเดือน มี.ค.54  มีมูลค่า 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยขยายตัวร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ทำให้ยอดการส่งออกรวมในไตรมาสแรกของปี 54 มีมูลค่าทั้งสิ้น 5.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ในขณะที่ยอดการนำเข้ามีมูลค่า 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ขยายตัวร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ส่งผลให้ในไตรมาสแรกปี 54 ไทยมียอดดุลการค้าเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.54  ขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้  ถือเป็นแรงส่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และช่วยลดผลกระทบของเหตุการณ์น้ำท่วม รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น  ทั้งนี้ การส่งออกที่ดีเป็นผลมาจากสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า  ที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 22.9 และ 33.0 ตามลำดับ  รวมทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ร้อยละ 43.6 

โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไทยที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน  นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์จะเป็นแรงส่งสำคัญให้อัตราการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 สามารถขยายตัวอยู่ในช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค.54)

2. ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 102.3
-  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 54 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.3 จากระดับ 108.2 ในเดือน ก.พ. 54 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย(กนง) สถานการณ์ในตะวันออกกลาง เป็นต้น

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 54 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.3 โดยแยกรายอุตสาหกรรมได้ดังนี้  อุตสาหกรรมขนาดย่อม อยู่ที่ระดับ 90.7 ลดลงจากระดับ 90.8 จากเดือนก่อนหน้า อุตสาหกรรมขนาดกลาง อยู่ที่ระดับ 105.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.8 จากเดือนก่อนหน้า และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่ที่ระดับ 103.7 ลดลงจากระดับ 120.2 จากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของระบบเศรษฐกิจได้ปรับตัวลดลงในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 14.7 ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นลดลงมาจาก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการกู้สินเชื่อมีแนวโน้มสูงขึ้น

3. มี.ค. 54 ส่งออกญี่ปุ่นหดตัว 2.2% เป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน
-  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 54 ได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกของญี่ปุ่นหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ซึ่งในเดือน มี.ค. การส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าระดับ 5,866.0 พันล้านเยน อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังได้เปรียบดุลการค้าอยู่ 196.5 พันล้านเยน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า  การชะลอตัวของภาคการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. 54 ที่   ร้อยละ 2.2 ต่อปี เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวส่งผลต่อภาคการผลิตของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์ที่หดตัวร้อยละ 28 อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และดุลการค้าที่เกินดุล ณ เดือน มี.ค. 54

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อบูรณะประเทศกว่า 25,000 ล้านเยน จะมีส่วนในการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ทั้งนี้  สศค. คาดว่าในปี 54 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 1.3   

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง