เนื้อหาวันที่ : 2011-04-20 17:57:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1332 views

ยอดใช้เบนซินเดือนมี.ค. หดขณะที่ดีเซลพุ่งสวนทาง

กรมธุรกิจพลังงานเผยสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมีนาคม 54 ยอดการใช้น้ำมันเบนซินลดลงจากความกังวลในสถานการณ์ลิเบีย ขณะที่ยอดใช้ดีเซลพุ่งขึ้นจากนโยบายตรึงราคา

          กรมธุรกิจพลังงานเผยสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมีนาคม 54 ยอดการใช้น้ำมันเบนซินลดลงจากความกังวลในสถานการณ์ลิเบีย ขณะที่ยอดใช้ดีเซลพุ่งขึ้นจากนโยบายตรึงราคา

          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินเดือนมีนาคมปรับลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 7% มาอยู่ที่ 19.8 ล้านลิตร/วัน เป็นผลจากเหตุความไม่สงบในลิเบียและความกังวลว่าสถานการณ์จะลุกลามไปยังประเทศตะวันออกกลางส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในเดือนมีนาคม 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เกือบ 3 บาท/ลิตร สวนทางกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีการปรับตัวสูงขึ้น 4% มาอยู่ที่ 55.6 ล้านลิตร/วัน

เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ตรึงราคาขายปลีกไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ประกอบกับปีนี้ ผลผลิตทางการเกษตรสูงโดยเฉพาะอ้อยที่มีปริมาณมากและเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปลัง ทำให้มีการใช้รถบรรทุกขนส่งพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนเมษายนซึ่งมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะทำให้การใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในการเดินทางท่องเที่ยว ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนมีนาคมประมาณ 5% และ 4% ตามลำดับ

          ขณะที่ภาพรวมการใช้น้ำมันเบนซินในเดือนมีนาคมลดลง แต่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี 85 กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 18% มาอยู่ที่ 0.017 ล้านลิตร/วัน ตามจำนวนรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ อี 85 ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้มีมาตรการจูงใจให้มีการผลิตและนำเข้ารถยนต์ประเภทดังกล่าวและกำหนดราคาแก๊สโซฮอล์ อี 85 ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าชนิดอื่น ๆ โดยส่วนต่างราคาอยู่ที่ 12 – 15 บาท/ลิตร

ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา อยู่ที่ 54.6 ล้านลิตร/วัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เหลือเพียง 0.2 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากกรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 และยังให้คงสัดส่วนดังกล่าวไว้ต่อไปจนกว่าสถานการณ์น้ำมันปาล์มจะเข้าสู่ภาวะปกติ

          สำหรับปริมาณการใช้ NGV ปรับเพิ่มขึ้น 0.4% มาอยู่ที่ 6,420 ตัน/วัน และมีสถานีบริการ NGV จำนวน 437แห่ง ส่วนปริมาณการใช้ LPG ในเดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 555,000 ตัน/เดือน หรือ 17,900 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์อยู่ 4% ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ในภาคปิโตรเคมี 193,000 ตัน/เดือน หรือ 6,200 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 10% และภาคอุตสาหกรรม 72,000 ตัน/เดือน หรือ 2,300 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 4%

ในขณะที่การใช้ในภาคครัวเรือน 221,000 ตัน/เดือน หรือ 7,200 ตัน/วัน และภาคขนส่ง 69,000 ตัน/เดือน หรือ 2,200 ตัน/วัน มีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนก่อน ประกอบกับโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ได้เริ่มดำเนินการผลิต หลังจากหยุดซ่อมบำรุงเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งโรงกลั่นผลิต LPG เพิ่มมากขึ้น ในเดือนมีนาคม 2554 จึงมีการนำเข้า LPG จากต่างประเทศเพียง 91,000 ตัน มูลค่ารวม 2,500 ล้านบาท

          ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมทั้งหมด 817,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากเดือนก่อน 3% ในขณะที่มูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 86,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 19% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 778,000 บาร์เรล/วัน มูลค่านำเข้า 83,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 39,000 บาร์เรล/วัน มูลค่านำเข้า 3,100 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 106,000 บาร์เรล/วัน เป็นมูลค่าส่งออก 12,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และ 51% ตามลำดับ

          สำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2553 พบว่า การใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1% อยู่ที่ 20.5 ล้านลิตร/วัน เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่เพิ่มขึ้น 1% อยู่ที่ 53.8 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่การใช้ NGV อยู่ที่ 6,188 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 33% จึงเห็นได้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

ส่งผลให้ประชาชนใช้น้ำมันลดลง และเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่มีราคาถูกเพิ่มขึ้น โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 4 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2-3 บาท/ลิตร แม้ว่าในปี 2554 รัฐบาลจะควบคุมราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแล้วก็ตาม

          สำหรับการใช้ LPG ในไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 525,000 ตัน/เดือน หรือ 17,500 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24% โดยเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง เพิ่มขึ้น 22% อยู่ที่ 66,000 ตัน/เดือน หรือ 2,200 ตัน/วัน ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 8% อยู่ที่ 213,000 ตัน/เดือน หรือ 7,100 ตัน/วัน ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 6% อยู่ที่ 66,000 ตัน/เดือน หรือ 2,200 ตัน/วัน และ ภาคปิโตรเคมีมีการใช้ 180,000 ตัน/เดือน หรือ 6,000 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 65% แม้ว่าปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น

แต่เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ ปตท. เริ่มดำเนินการได้และสามารถผลิต LPG ได้เกือบเต็มกำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2554 ประกอบกับนโยบายของรัฐในการสนับสนุนให้โรงกลั่นผลิต LPG เพิ่มมากขึ้น ทำให้การนำเข้า LPG ในไตรมาส 1 ปี 2554 จำนวน 106,000 ตัน/เดือน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% แต่มูลค่ารวม 8,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%

          ส่วนของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ภาพรวมของไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 825,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1% แต่มูลค่ารวม 230,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 21% เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 101 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 779,000 บาร์เรล/วัน มูลค่า 219,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 46,000 บาร์เรล/วัน มูลค่า 10,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกอยู่ที่ 122,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 18% มูลค่า 36,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%

          นอกจากนี้ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานรายไตรมาสว่า Energy Information Administration (EIA) คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 จะอยู่ที่ประมาณ 110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบที่มีทีท่าว่าจะยืดเยื้อในลิเบีย รวมทั้งประเทศอื่นในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ จะอยู่ที่ประมาณ 116 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

            อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของผลการปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2553 – มีนาคม 2554) รวมทั้งสิ้น 2,804 ราย 4,988 ตัวอย่าง พบว่ามีการจำหน่ายน้ำมันที่มีคุณภาพต่ำ 38 ราย 39 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 1.36 และ 0.78 ของจำนวนรายและจำนวนตัวอย่างที่ทดสอบเมื่อเปรียบเทียบผลการตรวจสอบในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งพบผิด คิดเป็นร้อยละ 3.06 และ 1.92 ของจำนวนรายและจำนวนตัวอย่างที่ทดสอบ ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มการกระทำผิดลดน้อยลง

โดยส่วนใหญ่ยังเป็นปั้มอิสระอยู่ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชนิดน้ำมันที่พบผิดมากที่สุดคือน้ำมันเบนซินออกเทน 91 คิดเป็นร้อยละ 69.23 ของจำนวนตัวอย่างน้ำมันที่พบผิดทั้งหมด สาเหตุการพบผิดคือ ปนเมทานอล ปนสารโซลเว้นท์ และ ปนแก๊สโซฮอล์ ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายกับสถานีบริการที่ตรวจพบความผิดแล้ว

          นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่ามีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงถูกน้ำท่วม รวมจำนวน 32 ราย แต่เป็นการท่วมพื้นลานสถานีบริการ จำนวน 23 ราย ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง และ สุราษฎร์ธานี

โดยกรมธุรกิจพลังงานได้ร่วมกับสำนักวิชาการพลังงานภาค 12 (สวภ.12) จัดส่งหน่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ออกตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการที่ถูกน้ำท่วมพื้นลานก่อนที่จะเปิดจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2554 พบว่ามีสถานีบริการที่มีคุณภาพถูกต้องและเปิดจำหน่ายแล้ว จำนวน 22 ราย และยังไม่เปิดจำหน่าย จำนวน 1 ราย

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของประชาชน กรมธุรกิจพลังงานจะประสานไปยังพลังงานจังหวัดเพื่อจัดเก็บตัวอย่างน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการที่พร้อมจำหน่ายให้กรมธุรกิจพลังงานตรวจคุณภาพต่อไป