เนื้อหาวันที่ : 2007-03-20 08:33:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1817 views

บีโอไอเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมอุตฯ ต่อเรือและซ่อมเรือ

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือลงทุนในเขต 2 และ 3 โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปีแบบไม่จำกัดวงเงินภาษีที่ได้ยกเว้น หวังรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือลงทุนในเขต 2 และ 3 โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปีแบบไม่จำกัดวงเงินภาษีที่ได้ยกเว้น หวังรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค

.

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เพื่อส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนอุตสาหกรรมไปอยู่ในเขต 2 และเขต 3 มากยิ่งขึ้น โดยจัดให้เป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

.

อู่ต่อเรือและซ่อมของไทยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำสำคัญๆ ในเขต 1 ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการขยายพื้นที่ของอู่ สถานที่และร่องน้ำที่แคบและตื้น บีโอไอจึงออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอู่ต่อเรือและซ่อมเรือ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยในภูมิภาค นายสาธิตกล่าว

.

กิจการที่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริมจะต้องเป็นกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือเหล็กขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส และกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส ยกเว้นเรือไม้หรือเหล็กโดยจะต้องตั้งกิจการในเขต 2 และ 3 เท่านั้น

.

จากการศึกษาของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี พบว่า กิจการอู่เรือที่มีศักยในการต่อ/ซ่อมเรือขนาดใหญ่ ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 20 อู่ แบ่งเป็นอู่เรือขนาดใหญ่ 12 อู่ อู่ขนาดกลาง 8 อู่ ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในเขต 1 คือในกรุงเทพฯ 7 ราย สมุทรปราการ 8 ราย สมุทรสาคร 2 ราย ที่เหลือตั้งอยู่ในเขต 2 จำนวน 2 ราย และเขต 3 จำนวน 1 ราย

.

รายได้จากการต่อเรือในประเทศไทยของปี 2549 มีมูลค่า 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากปี 2548 ส่วนรายได้จากการซ่อมเรือในประเทศของปี 2549 มีมูลค่าประมาณ 1,260 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การต่อเรือและซ่อมเรือในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของเรือคอนเทนเนอร์ของเอกชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งความต้องการเรืองของตลาดโลกก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยได้รับยอดสั่งต่อเรือสูงขึ้นด้วย