เนื้อหาวันที่ : 2011-04-20 15:15:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1211 views

ดัชนีอุตฯ ร่วงสองเดือนชี้ส่อเค้าดิ่งต่อเนื่อง

ส.อ.ท. ชี้น้ำท่วมใต้ ราคาน้ำมันพุ่ง ตัวการฉุดให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องคาด 3 เดือนข้างหน้ายังร่วงต่อ

          ส.อ.ท. ชี้น้ำท่วมใต้ ราคาน้ำมันพุ่ง ตัวการฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องคาด 3 เดือนข้างหน้ายังร่วงต่อ

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2554 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,074 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.3 จากระดับ 108.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนมีนาคม ได้แก่ สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการค้า การท่องเที่ยว การปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผลกระทบจากปัญหาในประเทศตะวันออกกลางทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น กรณีความเสียหายจากแผ่นดินไหวและปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอีกด้วย

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 118.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการจะปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนมีนาคม พบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดใหญ่ปรับตัวลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 90.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ซึ่งการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดย่อมส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรม ขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภท ผ้าทอมือ ดอกไม้ประดิษฐ์ มียอดขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 112.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 105.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (ยอดขายรองเท้าแฟชั่นในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปยุโรป และอเมริกาเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมก๊าซ (ยอดขายก๊าซ LPG และ NGV ในประเทศเพิ่มขึ้น),

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ยอดขายซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจัดโปรโมชั่นในงานคอมมาร์ท 2011) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ยอดขายปุ๋ยและน้ำสกัดชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.5 ลดลงจากระดับ 115.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 103.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 120.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์หนัง เช่น กระเป๋า เข็มขัด ไปตะวันออกกลางลดลง), อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปประเทศญี่ปุ่นลดลง),

อุตสาหกรรมอาหาร (ยอดส่งออกอาหารแช่แข็งไปอเมริกา และญี่ปุ่นลดลง), อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ค่าการกลั่นลดลง) และอุตสาหกรรมเคมี (ยอดขายปุ๋ยเคมีในประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 122.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

          ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 103.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความกังวลของผู้ประกอบการในภาคกลางที่สำคัญ ได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภท HDD ,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่นลดลง), อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (ยอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมพลาสติก (ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกไปตะวันออกกลางและญี่ปุ่นลดลง) และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมที่เป็นชิ้นส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์มียอดขายในประเทศลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.1 ลดลงจากระดับ 114.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 103.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ในภาคเหนือรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีจากราคาสินค้าเกษตร ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น การค้าและการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ (กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.3 ปรับลดลงจากระดับ 116.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 94.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน ค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 117.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 114.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 117.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ และต้นทุนประกอบการ ในภาคตะวันออกผู้ประกอบการมีความกังวลด้านราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ยอดการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปญี่ปุ่นลดลง) และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ มียอดขายในประเทศลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 121.1 ปรับลดลงจากระดับ 126.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 79.6 โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 113.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งภาคการค้าและการท่องเที่ยว

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากประสบปัญหาภัยธรรมชาติ) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 123.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 102.0 ปรับลดลงจากระดับ 107.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ?อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้าย), อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศลดลง),

อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น), อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ยอดขายหินอ่อน หินตกแต่งในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ยอดขายกระดาษคราฟ กระดาษลอกลายในประเทศลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 107.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 117.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 114.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับเพชรและพลอยมียอดการส่งออกไปฮ่องกง อเมริกา และอินเดียลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.9 ปรับลดลงจากระดับ 123.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สถานการณ์ทางการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยด้านสถานการณ์ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐบาลควรสร้างเสถียรภาพด้านการเมือง และออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และออกมาตรการควบคุมสินค้าด้อยคุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง อีกทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงชะลอการปรับราคา LPG ในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)