เนื้อหาวันที่ : 2011-04-20 13:51:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 954 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 20 เม.ย. 2554

1. หนี้สาธารณะเดือน ก.พ.54 ลดลง 5.6 พันล้านบาท
-  ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ.54 มีจำนวน 4.257.3 พันล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 41.63  ของ GDP  โดยลดลงสุทธิจากเดือนก่อนหน้า  5,613.9 พันล้านบาท  โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,988.2 พันล้านบาท  หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,078.0 พันล้านบาท  หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 160.6 พันล้านบาท  และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 30.6 พัน ล้านบาท

-  สศค. วิเคราะห์ว่า สถานะหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันยังคงมีความมั่นคง  สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 41.63  ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

นอกจากนี้ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่มีสัดส่วนเป็นหนี้สกุลเงินบาทสูงถึงร้อยละ 91.6 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง  และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ระยะเวลามากกว่า 1 ปี) ในสัดส่วนร้อยละ 98.4 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง  ซึ่งทำให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการชำระคืนมากขึ้น 

2. กสิกรไทย คาดยอดขายรถยนต์ปีนี้อาจถึง 9 แสนคัน
-  กรรมการผู้จัดการบริษัท สิสซิ่งกสิกรไทย เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใน 2 เดือนแรกปี 54 มียอดรวมถึง 145,611 คัน จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 103,735 คัน โดยยอดขายเติบโตถึงร้อยละ 40.37 ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับปีนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการปรับเพิ่มประมาณการณ์ยอดขายรถยนต์ตลอดปี 54จะสูงถึง 8.5 - 9 แสนคัน หรือเติบโตจากปีที่แล้วร้อยละ 6-12 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8.3-8.7 แสนคันหรือร้อยละ 5-10

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.1 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากปริมาณการจำหน่ายนถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 37.6

ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มที่ดี เป็นผลมาจาก 1)ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 2)สินเชื่อการบริโภคที่มีลักษณะผ่อนคลาย 3)รถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตามความกังวลต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายในระยะต่อไป

3. ADB เตือนราคาอาหาร-น้ำมันแพงอาจฉุดเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยลดลงราว 0.7% ปี 54
-  ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ระบุในรายงานแนวโน้มการพัฒนาของเอเชียประจำปี 54 ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ อาจจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ หากราคาอาหารและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในปี 54 และไม่ปรับตัวลดลงในปี 55

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย จะลดลงรวมกันราวร้อยละ 0.7 ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดคือสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน โดยคาดว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเหล่านี้จะหดตัวลงถึงร้อยละ 1.0

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 54 จะเผชิญกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงาน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ณ วันที่ 19 เม.ย. 54 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 25.8 จากต้นปี 54 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน เนื่องมาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของกลุ่มประเทศ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ขยายตัวร้อยละ 9.0, 4.5, 8.5, 6.3, 4.6, 5.0, 4.8, 4.4, 4.2 และ 4.0 – 5.0 ตามลำดับ   

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (www.fpo.go.th)