เนื้อหาวันที่ : 2011-04-19 10:35:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1264 views

รัฐเคาะลดภาษีสรรพสามิตต่ออายุตรึงราคาดีเซล

มาร์คผวากองทุนน้ำมันเหลือไม่ถึงห้าพันล้านเร่งถกสองรมต. เคาะลดภาษีสรรพสามิตยื้อตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 เชื่อแก้ปัญหาไม่ให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

ภาพข่าวจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย (www.thaigov.go.th)

มาร์คผวากองทุนน้ำมันเหลือไม่ถึงห้าพันล้านเร่งถกสองรมต. เคาะลดภาษีสรรพสามิตยื้อตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 เชื่อแก้ปัญหาไม่ให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

วานนี้ (18 เม.ย.54) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร หลังจากนั้นได้ร่วมกันแถลงผลการหารือดังกล่าว ซึ่งสรุปสาระสำคัญว่า

รัฐบาลจะยังคงนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตรต่อไป โดยเปลี่ยนจากการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขณะนี้เหลือเพียง 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้เท่านั้น จากนั้นจะไปใช้วิธีลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากปัจจุบันที่เรียกเก็บ 5.30 บาทต่อลิตร บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 40 สตางค์ต่อลิตร รวมเป็นเงิน 5.70 บาทต่อลิตร

โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 เมษายนนี้ โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากไม่ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันและเงินกองทุนน้ำมันฯ ไม่มีชดเชย จะ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 36 บาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้ลิตรละ 6.40 บาท แต่คาดว่าราคาน้ำมันจะไม่สามารถยังคงราคานี้ได้ตลอดไป รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทบทวนมาตรการ เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทต่อลิตรให้ได้

เพราะหากปล่อยให้ราคาดีเซลปรับขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้น สินค้าแพงขึ้น และจากวิกฤติในญี่ปุ่น ปัญหาการเมืองในหลายประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ขยายตัว ถ้าปล่อยให้ดีเซลแพงขึ้นอีก และประเทศไทยจะประสบกับปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืด ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจทั้ง 2 ด้าน

นอกจากนี้ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง จะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลที่จะจัดเก็บในปีงบประมาณ 2554 หรือในช่วง 5 เดือนจากนี้ไป หายไปประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงงบประมาณในปี 2555 ให้เหมาะสมกับรายได้ที่ลดลง โดยกรอบปีงบประมาณ 2555 นั้นได้จัดทำไว้แล้ว แต่คงนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ เพราะจะประกาศยุบสภาต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะทบทวนเรื่องงบประมาณอีกครั้ง รวมถึงเรื่องภาษีสรรพสามิตดีเซลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังนำเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที ซึ่งรายได้ที่ลดลงจากการลดภาษีครั้งนี้ ต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในปีงบประมาณ 2555 ลงจากเดิมที่คาดว่าในปีงบประมาณ 2555 จะขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท คงจะต้องขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่ไม่เท่ากับปีงบประมาณ 2554 ที่ตั้งเป้าขาดดุลไว้ 4.2 แสนล้านบาท

พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเก็บอยู่ 5.31 บาท/ลิตร จะปรับลดลงเหลือ 0.005 บาท/ลิตรเพราะเป็นเรื่องทางเทคนิคเพื่อให้ทราบถึงการใช้น้ำมัน และแทบจะไม่มีผลกระทบกับรายได้หรือการจัดเก็บ และเมื่อภาษีสรรพสามิตดีเซลลดลงราว 5.30 บาท/ลิตร จะมีผลทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงอีก40 ส.ต./ลิตร ทำให้การลดภาษีครั้งนี้รวมกันถึง 5.70 บาท/ลิตร

และการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ54 จะทำให้รายได้ที่รัฐจัดเก็บลดลง 44,380 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากภาษีสรรพสามิตดีเซลลดลง 42,480 ล้านบาท และจากภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง1,900 ล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การกระทรวงพลังงานจะเข้ามาดูแลราคาดีเซลแทนกองทุนน้ำมันฯ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันหน้าปั๊มแต่อย่างใด ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนดีเซล 6.40 บาท/ลิตร และจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายการพลังงาน (กบง.) เพื่อลดการชดเชยดีเซลลง 40 ส.ต./ลิตร เพราะราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วงสงกรานต์ปรับลดลงบ้างจะทำให้เหลือการชดเชย 6 บาท/ลิตร ใกล้เคียงกับภาษีที่กระทรวงการคลังลดให้ 5.70 บาท/ลิตร

ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย