เนื้อหาวันที่ : 2011-04-18 09:05:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 820 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 12 เม.ย. 2554

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด GDP ปี 54 โตร้อยละ 3.6
-  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 54 น่าจะเติบโตร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในไตรมาส 2 คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้ ทั้งนี้ ในปี 54 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ  3.6

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงรัอยละ 4.0 ถึง 5.0 ซึ่งแม้ว่าจะชะลอลงจากปี 53 แต่ถือได้ว่าเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในปี 54 ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 0.1 จากกรณีฐาน

2. หอการค้าไทยคาดส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ขยายตัวต่อเนื่อง
-  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 54 อยู่ที่ระดับ 101.30 เพิ่มขึ้น 0.16 จากเดือนมกราคม 54 ซึ่งสะท้อนว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาส 2 ปีนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.40-5.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยบวกจากการผลิตของโลกยังขยายตัวได้ดี แม้จะเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่น ทั้งนี้ คาดว่าในปี 54 การส่งออกของไทยจะขยายตัว ร้อยละ 12.40-16.50 ชะลอลงจากปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 28.10

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในปี 54 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะชะลอลงจากปี 53 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนญี่ปุ่น แม้ว่าจะประสบปัญหาภัยพิบัติ แต่คาดว่าไม่กระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก นอกจากนี้การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปญี่ปุ่นน่าจะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 54 การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกรายตลาด โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ขยายตัวร้อยละ 21.7 20.4 และ  21.0 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคอาเซียนขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ  17.5 จึงเป็นสัญญาณว่าการส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่สดใสและอัตราการขยายตัวน่าจะสูงกว่าเป้าเดิม

3. โซรอสเตือนเงินเฟ้อจีนเกินควบคุม
-  จอร์จ โซรอส กล่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การที่กดหยวนให้อ่อนค่าจะทำให้เสียโอกาสในการสกัดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ การส่งออกและนำเข้าที่ขยายตัวเร็วเกินคาดเมื่อเดือนที่แล้ว อาจเปิดโอกาสให้นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรี เพิ่มความเข้มงวดในการรับมืออัตราเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย และให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการกันสำรอง

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 53 การส่งออกและนำเข้าของจีน และเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน โดยมีการขยายตัวในระดับสูง ที่ร้อยละ 31.3 และ 38.9 ต่อปี ตามลำดับ  และยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.3 และ 36.3 ต่อปี ตามลำดับ ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 ปี 54 อย่างไรก็ดี จีนยังคงประสบปัญหาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ณ ก.พ. 54 ซึ่งยังคงเป็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพภายในประเทศของจีน

ทั้งนี้ การที่ทางการจีนกดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าต่อเนื่องดังกล่าว อาจเป็นเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปลงทุนในจีน ที่ควรมุ่งเน้นเกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อให้สอดรับกับการปรับแผนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอนาคตทีจำเป็นต้องมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น แทนที่จะเน้นภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง