เนื้อหาวันที่ : 2011-04-05 15:56:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1397 views

พรทิวา สั่งจับตาส่งออกไทย หวั่นสถานการณ์ความไม่สงบกระทบศก.

สคร.นิวยอร์ก เผยผลกระทบตลาดตะวันออกกลางทำราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ พุ่งสูง ส่งออกรอดตัว 2 เดือนแรกโต 20% กระตุ้นผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ ลดต้นทุนเพิ่มขีดความสามารถ

สคร.นิวยอร์ก เผยผลกระทบตลาดตะวันออกกลางทำราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ พุ่งสูง ส่งออกรอดตัว 2 เดือนแรกโต 20% กระตุ้นผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ ลดต้นทุนเพิ่มขีดความสามารถ

สคร.นิวยอร์กรายงานผลกระทบตลาดตะวันออกกลาง “น้ำมัน-เงินเฟ้อ” แต่ส่งออกรอดตัว เผย 2 เดือนแรกส่งออกฟื้นตัว โต 20% ชี้แสวงหาตลาดใหม่ ส่งเสริมผู้ส่งออกไทยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเป็นคำตอบสุดท้าย

ตามที่ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้กำชับให้กรมส่งเสริมการส่งออกสั่งการทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) รายงานถึงสถานการณ์สินค้าส่งออกของไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศแอฟริกา ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่นและอื่นๆ เพื่อเสนอมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุดนั้น

นางสมจินต์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ กรมส่งเสริมการส่งออก รายงานว่า กรณีสหรัฐฯโจมตีลิเบีย ต้องดูสองด้านคือ ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น สงครามในลิเบีย ไม่มีผลมากต่อการส่งออกของไทยไปลิเบีย เพราะส่งออกไปน้อยมาก แต่จะมีผลกระทบอย่างแรงเรื่องการนำเข้าน้ำมัน โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะต้องสูงขึ้นมาก และจะมีผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค และเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อเริ่มเกิดปัญหาในลิเบีย ผลกระทบอย่างแรกในสหรัฐฯ คือ ราคาขายปลีกน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ตามราคาตลาดโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นจนคนอเมริกันรู้สึกได้ เพราะสินค้าบริโภคราคาสูงขึ้นทันที ซึ่งหากสหรัฐฯปล่อยไปเช่นนี้ จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นมาซ้ำเติมเศรษฐกิจซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีทีท่าจะกระเตื้องขึ้นในปี 2554 รวมถึงมีผลทางการเมืองภายในสหรัฐฯที่เกี่ยวข้องกับเอกชนบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตามภาครัฐได้เตรียมแสวงหาตลาดข้างเคียงเพื่อเปิดประตูสู่ตลาดแอฟริกา พร้อมทั้งหาตลาดใหม่เพื่อขยายตลาดส่งออกของสินค้าไทยในเชิงรุกให้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกไทยในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาคุณภาพสินค้าพร้อมกับส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

นางสมจินต์ กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2554) การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัว มีมูลค่า 3,355 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 20% โดยสินค้าสำคัญส่งออก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน แผงวงจรไฟฟ้า

ในขณะที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ 2,237 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพิ่มขึ้น 39% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ, แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใย เป็นต้น

ด้านสถานการณ์หลังอุบัติภัยแผ่นดินไหวกับผลกระทบต่อตลาดอาหารในญี่ปุ่นนางอัมพวัน  พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น       กรมส่งเสริมการส่งออก รายงานว่าผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระยะสั้นที่หลายพื้นที่ยังต้องใช้มาตรการประหยัดพลังงาน การใช้ชีวิตประจำวันยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่ อาหารปรุงสำเร็จ หรือเตรียมรับประทานสะดวกจึงจำหน่ายได้ดี

ขณะที่ความหวาดระแวงสารกัมมันตภาพรังสี ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าอาหารมากขึ้น เช่น ความต้องการผักชนิดรับประทานใบ ปลาและอาหารทะเลสดมีปริมาณลดลง ผู้ซื้อพิจารณาแหล่งผลิตของอาหารพิถีพิถันกว่าเดิม ซึ่งปกติอาหารเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารสดที่วางจำหน่าย หากผลิตในญี่ปุ่นจะระบุจังหวัด และ/หรือเมืองที่ผลิต ส่วนสินค้านำเข้าจะระบุประเทศผู้ผลิต

การนำเข้าอาหารของญี่ปุ่นในปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารจากทั่วโลกมูลค่า 51,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งนำเข้าอาหารสำคัญอันดับ 1 มูลค่าถึง 12,070 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 24% ของมูลค่าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากทุกแหล่ง จีนมีสัดส่วน 14% ส่วนไทยมีสัดสัดส่วน6.6% มูลค่าสินค้าอาหารจากไทยมีมูลค่า 3,383 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าอาหารสำคัญที่ญี่ปุ่นนำเข้า ได้แก่ อาหารทะเลสดและแช่แข็ง ปี 2553 นำเข้ามูลค่า 11,659 ล้านเหรียญฯ ส่วนนำเข้าจากไทยมูลค่า 692 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่า 5.9%            ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อสัตว์มูลค่า 8,549 ล้านเหรียญฯ สินค้าจากไทยมีน้อยมาก ส่วนเนื้อสัตว์ ปลาแปรรูป  ปี 2553 ที่ผ่านมาญี่ปุ่นนำเข้ามูลค่า 5,263 ล้านเหรียญฯ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 มีมูลค่า 1,522 ล้านเหรียญฯ สัดส่วนมูลค่า 28.9%

สำหรับผักนั้น ญี่ปุ่นนำเข้าผักมูลค่า 2,140 ล้านเหรียญฯ โดยที่สามารถปลูกผักสดสำหรับบริโภคในประเทศได้ในสัดส่วนสูงกว่าอาหารอื่นหลายประเภท ผักที่นำเข้ากว่า 40% ของมูลค่า เป็นผักแช่แข็งและตากแห้ง แหล่งนำเข้าผักที่สำคัญ คือ จีน ครองสัดส่วนมูลค่ากว่าครึ่ง ปี 2553 ผักจากไทยมีมูลค่า 108 ล้านเหรียญฯ สัดส่วนมูลค่า 5.1% ผักจากไทยประมาณ 2 ใน 3 เป็นผักแช่แข็ง ผักสดจากไทย ได้แก่ หน่อไม้ผรั่ง ข้าวโพด ถั่ว เป็นต้น

ปัญหาสินค้าอาหารบางประเภทขาดตลาดเกิดขึ้นระยะสั้นเท่านั้น ขณะนี้ การจัดส่งสินค้าคลี่คลายลง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยมมีมากขึ้น ในส่วนของความหวาดระแวงเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในอาหารนั้น ทางการญี่ปุ่นยังคงรักษามาตรฐานในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ มีจำนวนผู้ผลิตอาหารในญี่ปุ่นมากขึ้นจากปกติที่ยื่นขอรับการตรวจสอบทั้งอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต และวัตถุดิบ เพื่อให้ผู้ค้าปลีก ผู้ส่งออก และลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการอาหารแช่เย็น แช่แข็งนำเข้า โดยเฉพาะอาหารทะเล และอาหารแปรรูป มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นภายในระยะไม่เกิน 6 เดือน ก่อนเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป

นายณัฐพงศ์ บุญจริง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรต กรมส่งเสริมการส่งออก ซี่งดูแลประเทศโอมาน รายงาน เหตุการณ์การชุมนุมในโอมานนั้น ประมุขของโอมานที่ปกครองมานานกว่า 40 ปี ได้ประกาศเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ และให้มีการเพิ่มงาน 50,000 ตำแหน่ง นอกจากนั้นยังได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรี 6 กระทรวง และยังได้ประกาศเพิ่มสวัสดิการด้านการศึกษา ซึ่งเหตุการณ์ไม่สงบของโอมานคาดว่าจะไม่ยืดเยื้อ ทั้งนี้กรมฯจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปโอมาน ทั้งนี้การส่งออกไทยโอมาน 2 เดือนแรก มีมูลค่า 96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30 % สินค้าส่งออกสำคัญรถยนต์ อุปกรณ์และส่นประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่เย็น เครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นต้น
 
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก