เนื้อหาวันที่ : 2011-04-01 14:06:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1187 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 1 เม.ย. 2554

1.  อุตฯยานยนต์เผชิญปัจจัยเสี่ยงจากน้ำท่วมภาคใต้และปัญหาการเมืองตะวันออกกลาง
-  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุผลกระทบของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นได้ คงต้องรอหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป ในการตรวจสอบโรงงานผลิตชิ้นส่วนและรถยนต์ที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการลดปริมาณการผลิตลงชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับสต็อกชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่น ที่มีใช้ไปได้อีกประมาณ 1 เดือน

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมภาคใต้และปัญหาการเมืองในประเทศแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางบางส่วน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกรถยนต์  โดยปัจจุบันยอดผลิตปรับลดลงประมาณ 1 พันคันต่อเดือน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ในระยะสั้นนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์อาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสึนามิในประเทศญี่ปุ่นหรืออุทกภัยภาคใต้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะปานกลางถึงระยะยาวภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการซื้อยานยนต์เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าเดิมที่ได้รับความเสียหาย

ทำให้คาดว่าในปี 54 อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอลงจากปี 53 โดยข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า การผลิตยานยนต์ในช่วง 2 เดือนแรกปี 54 ขยายตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเยวกันปีก่อน

2. PMI ญี่ปุ่น เดือน มี.ค. 54 อยู่ระดับ 46.4 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ต.ค. 44
-  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ญี่ปุ่นเดือน มี.ค. 54 ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับ 46.4 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ต.ค. 44 โดยหากพิจารณาในรายละเอียดของดัชนีจะพบว่าเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อวัตถุดิบ (New Orders) ที่ปรับตัวต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิต (Industrial Output) ที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยพิบัติสึนามิที่ทำให้โรงงานรถยนต์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิคส์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โตโยต้าและโซนี ต้องชะลอการผลิตลง

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI น่าที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเนื่องจากผลผลิตในหลาย ๆอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยายนต์และเทคโนโลยี ที่อาจอยู่ในสภาวะตรึงตัวจากปัญหาด้านอุปทานพลังงานที่อาจขาดแคลนจากความเสียหายของโรงงานไฟฟ้านิวเคลีย

โดยผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจไทยจะส่งผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการส่งออกของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยร้อยละ -0.8 จากกรณีฐาน

3. การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ เดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 201,000 ตำแหน่ง
-  ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน  ADP  เดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 201,000 ตำแหน่ง จากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการสะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการจ้างงานสหรัฐ ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า อัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตรรายเดือน (Non-farm Payroll) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตัวเลขการว่างงานเดือน มี.ค. 54 น่าที่จะลดลงต่ำกว่าระดับของเดือน ก.พ. 54 ที่ร้อยละ 8.9 ของกำลังแรงงานรวม

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น มาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นสำคัญ โดยมีการจ้างงานรวมกันถึง 184,000 ตำแหน่ง สะท้อนถึงสภาวะการจ้างงานที่มีการกระจายตัวที่ทั่วถึงในแต่ละระดับ

อย่างไรก็ตามแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ผลกระทบเชิงบวกของการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อการบริโภคเอกชนลดลงได้ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค. 54 ได้ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 63.4 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 72

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง