เนื้อหาวันที่ : 2007-03-19 08:25:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1141 views

คุมเข้ม 75 โรงงานนอกนิคมฯ สั่งลดมลพิษแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

กรมโรงงานคุมเข้ม 75 โรงงานนอกนิคม ฯ มาบตาพุด สั่งลดมลพิษลงไม่ต่ำกว่า 20 % ภายใน 1 ปี ลุยตรวจ 43 จุด เสี่ยงปล่อยมลพิษทางอากาศ พร้อมชง โฆสิต เร่งบูรณาการแผนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนิคมฯเบ็ดเสร็จ กระทรวงทรัพยากร แบรกแผนพัฒนาพื้นที่เซาเทิร์นซีบอร์ดที่ภาคตะวันออก เล็งย้ายลงภาคใต้แทน

นายรัชดา สิงคาลวนิช  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ( กรอ.) เปิดเผยว่า  กรอ. ได้เสนอแผนปฏิบัติการลดมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  ให้นาย โฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา  และเสนอคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมที่มีนาย พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่นิคม  มาบตาพุดได้อย่างเป็ดเสร็จ  ต้องเร่งดำเนินการลดมลพิษจากโรงงานที่ตั้งอยู่ใน  และนอกนิคม ควบคู่กัน

.

แผนลดมลพิษของ  กรอ.  นั้นประกอบด้วยแผนระยะสั้นจะเร่งผู้ประกอบการเป้าหมายที่ดำเนินกิจการประเภทโรงไฟฟ้า  ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน  โรงงานผลิตเหล็กและเคมีภัณฑ์  จำนวน  75 ราย  ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่  ตั้งอยู่ในเขตประกอบการของบริษัท  ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ เดิม ที่มีโรงอยู่กลุ่มเสี่ยงต่อการสร้างมลพิษทางอากาศ  จำนวน 50 โรงงาน  และโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตดังกล่าวอีก 25 โรงงาน  โดยเป้าหมายจะลดมลพิษกว่าเดิมไม่ต่ำกว่า  20 %  ภายในระยะเวลา 1 ปี

.

ทั้งนี้  กรอ. ได้สั่งให้ผู้ประกอบการดังกล่าวจัดทำแผนลดมลพิษทางอากาศมาเสนอ  กรอ. โดยเร็วที่สุด ซึ่งจุดใหญ่จะเน้นการลดมลพิษทางอากาศเป็นหลัก  ซึ่งจากการลงพื้นที่ในเบื้องต้นพบ  43  ปล่อง  การปล่อยควันของโรงงานที่เป็นจุดเสี่ยงที่จะเพิ่มมลพิษทางอากาศ  ซึ่งได้เร่งให้ผู้ประกอบการสำรวจความบกพร่อง  หากเกิดปัญหาต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว  อย่างไรก็ตามการลดมลพิษดังกล่าวผู้ประกอบการจะต้องรับภาระใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเองทั้งหมด แผนระยะกลาง  และระยะยาว  ภายในระยะเวลา 3 ปี  จะลดมลพิษในโรงงานเป้าหมายที่ตั้งอยู่ใน  อำเภอเมืองระยอง  อำเภอปลวกแดง  อำเภอบ้านฉาง  และนิคม ฯ พัฒนาที่มีโรงงานกว่า  500 ราย ให้ต่ำสุดเท่าที่จะดำเนินการได้อย่างต่ำต้องลดมลพิษลงจากเดิม 20 %  แม้ในปัจจุบันการปล่อยมลพิษของผู้ประกอบการจะยังไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด  แต่หากไม่ช่วยกันควบคุมมลภาวะโดยเร็วอนาคตหากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่คุ้มกับโครงการลงทุนที่มีมลค่ามหาศาล

.

การลดมลพิษจะเป็นไปตามกรอบที่คณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้  ทั้งมาตรการจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษต้องคลอบคลุมถึงแหล่งกำเนิดทั้งหมด  การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน  และต้องเฝ้าระวังการเกิดปัญหาและดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิต  ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

.

นาย  สุทธิ  อัชณาศัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก  กล่าวว่า  งานนี้  เรียกว่า  ฟรีคอนเสิร์ต  ผนึกกำลังรวมใจลดมลพิษ  ต่อชีวิตชาวระยองร่วมกัน  ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาด  อยากจะเห็นหลายฝ่ายเข้ามาควบคุมในการลดปัญหามลพิษ  ด้านต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่เรามีร่วมกัน  ทิศทางอุตสาหกรรมต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด  เพื่อให้ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ตกต่ำลงไป  ควบคู่กับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวระยอง

.

การเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก  ที่ผ่านมามีผลที่คืบหน้า  คือ  การแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการกรรมการศึกษาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  สองชุด  ได้กำหนดมาตรสารเคมี  9  ชนิด  ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  โดยจะประกาศในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้  ในการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

.

คณะอนุกรรมการด้านพลังงาน  จะลงพื้นที่จัดเวิร์คชอป  ในวันที่  23 -24  กุมภาพันธ์  นี้ เพื่อทำแผนปฏิบัติการส่วนพิธีสืบชะตาสุขภาพจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดให้พรกับผู้เจ็บป่วยประมาณ  10 คน ให้หายวันหายคืน  เป็นการรณรงค์  ให้ช่วยเรียกเอาสิ่งแวดล้อมที่หายไป เช่น น้ำทะเล  อากาศ กลับคืนมา เป็นการทำบุญจังหวัด  ให้ปัญหาโพยภัยทั้งหมดหายไป

.

นายเกษม  สนิทวงศ์  ณ อยุธยา รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง  ว่าคงต้องเปิดโอกาสให้คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด  ที่ตั้งขึ้นมาทำงานก่อนโดยเฉพาะการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเพื่อนำมาพิจารณาจึงยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร  ซึ่งในส่วนของอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหามลพิษและกำหนดการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดที่มี  นายพรชัย  รุจิประภา  ปลัดกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานก็จะทำงานดูแลเรื่องให้โรงงานอุตสาหกรรมทำตามกฎหมาย  เนื่องจาก ในอดีตมีการปฏิบัติงานหย่อนยานมาตลอด  ตอนนี้ก็ต้องกลับไปดูเพื่อให้ทำอย่างจริงจังทั้งเรื่องของมาตรฐานสารอินทรีย์ระเหย ( VOCs) มลพิษต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตอนนี้

.

เรื่องการย้ายพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่เคยมีการพูดคุยกันในรัฐบาล  ว่าควรจะมีการหาพื้นที่ใหม่ที่จะรองรับภาคอุตสาหกรรม  เนื่องจากเห็นว่าที่มาบตาพุดเต็มที่แล้ว  โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำที่ไม่เพียงพบ  เพราะในเขตภาคตะวันออก  ยังมีประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกรรมอยู่  ก็ต้องคำนึงถึง  และต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย  ซึ่งจะต้องจัดให้สมดุลไม่ให้เกิดความขัดแย้ง  โดยเฉพาะการแย่งน้ำกัน  เคยทราบมาว่ามีการศึกษาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ระบุว่า  พื้นที่ภาคใต้จังหวัดอันดามัน รวมทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีความเหมาะสม  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องว่ากันด้วยเหตุผล  มองในหลายปัจจัยร่วมกันด้วย นายเกษม  กล่าว

.

ด้านนายเกษมสันต์  จิณณวาโส  เลขาธิการ  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ( สผ. ) กล่าวว่า  ถ้ารัฐบาลตัดสินใจที่จะพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด  เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมจากชายฝั่งตะวันออกนั้น  ทาง  สผ. จะเสนอให้ทำการประเมินปลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA)  ซึ่งเป็นการประเมินในระดับนโยบายระดับแผนงานและเชิงพื้นที่  และจะช่วยให้เห็นภาพผลกระทบในระดับพื้นที่และครอบคลุมทุกมิติ  ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม  และเป็นทางเลือกให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ    ดังนั้นคงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อน

.

ส่วน  นางนิศากร  โฆษิตรัตน์  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  (ทช.) กล่าวว่า  ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาของรัฐบาล  แต่เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ยังมีความอ่อนไหวของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอยู่มาก  ดังนั้นหากรัฐบาลจะมีนโยบายพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ลงไปในพื้นที่ก็ต้องไม่ผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้วย