เนื้อหาวันที่ : 2011-03-28 11:37:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 679 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 21-25 มี.ค. 2554

ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9  และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อนหน้า  ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึงการลงทุนในภาคการก่อสร้างที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุกซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.พ. 54 อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 18,868 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 31.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.3 และหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 6.5 จากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม หากหักทองคำแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 4.9 จากเดือนก่อนหน้า โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวสูงที่ร้อยละ 46.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 33.1 ในขณะที่สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ -2.7 จากการเร่งส่งออกในเดือนก่อนหน้า

การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.3 หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะหดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 64.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 31.8 6.8 และ 13.4 ตามลำดับ ทั้งนี้มูลค่าส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่านำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. 54 เกินดุล 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.54 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือน ก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยได้รับปัจจัยลบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวในอัตราเร่งตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 54 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.87 โดยคาดว่าสาเหตุสำคัญมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะพืชผักบางชนิดที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง