เนื้อหาวันที่ : 2011-03-25 15:16:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1441 views

คนไทย 80% อยากรู้ข้อมูลการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ

กรีนพีซและเอแบคโพลล์เผยคนไทยกว่า 80% ต้องการกฎหมายควบคุมให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

กรีนพีซและเอแบคโพลล์เผยคนไทยกว่า 80% ต้องการกฎหมายควบคุมให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

เนื่องในวันน้ำโลก กรีนพีซและเอแบคโพลล์เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมลพิษทางน้ำในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 80.2 ต้องการกฎหมายกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดทำและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหนึ่งมาตรการส่งเสริมการลดมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามแม่น้ำเจ้าพระยาและแหล่งน้ำที่สำคัญต่างๆ ของประเทศ

ผลการสำรวจความคิดเห็นยังระบุว่า ร้อยละ 83.8 ของกลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่ามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและควรเร่งแก้ไข และประเมินการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังคงล้มเหลวในการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษ

การสำรวจเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคมปีนี้ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,550 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและชุมชนที่อาศัยใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร

“ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าชาวไทยอยากเห็นรัฐบาลลงมือแก้ไขมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาคุกคามแหล่งน้ำของประเทศ ความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการและการเปิดเผยข้อมูลเป็นแนวทางที่จะสามารถนำสู่การแก้ไขปัญหามลพิษได้ในระยะยาว 

ทั้งนี้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรคำนึงถึงสิทธิการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับสารพิษอันตรายที่ใช้และปล่อยจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม โดยควรเร่งออกกฎหมายกำหนดให้อุตสาหกรรมจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

“กรีนพีซเชื่อว่าความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษนี้จะต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม การปิดบังข้อมูลการใช้และการปล่อยสารพิษอันตรายนั้นจะยิ่งนำไปสู่ความคลุมเครือโดยเฉพาะในยามที่เกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับที่เราได้เรียนรู้จากอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะภัยได้” นายพลายกล่าว

จากผลสำรวจพบว่า 3 ประเด็นแรกที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆคือ 1. ปัญหามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและควรเร่งป้องกันแก้ไข (ร้อยละ 83.8) 2. ควรมีกฎหมายกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ (ชนิดและปริมาณ) สู่สิ่งแวดล้อมและให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อมได้ (ร้อยละ 80.2) และ 3. โรงงานอุตสาหกรรมควรใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่านั้น (ร้อยละ 79.6) 

จากประเด็นปัญหาต่างๆที่ทำการสำรวจ พบว่า 5 ประเด็นแรกที่คนส่วนใหญ่มีความกังวลมากถึงมากที่สุดคือ
1. ปัญหามลพิษทางน้ำรวมกับปัญหาโลกร้อนจะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการขาดแคลนน้ำสะอาดในอนาคต (ร้อยละ 91.5)
2. ปัญหาน้ำเน่าเสียตามคูคลองและแม่น้ำ (ร้อยละ 90.3)
3. ปัญหาขยะในแหล่งน้ำ (ร้อยละ 89.94)
4. ปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากมลพิษทางน้ำ (ร้อยละ 84.5)
5. การปนเปื้อนสารพิษในห่วงโซ่อาหารหรือสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 84.1)

มากกว่าครึ่งหนึ่งถึง 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างกังวลต่อการประสบปัญหามลพิษของแม่น้ำ 4 สายหลักในภาคกลาง พบว่าร้อยละ 74.5 มีความกังวลมากถึงมากที่สุดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา รองลงมาคือ แม่น้ำบางปะกง คิดเป็นร้อยละ 58 แม่น้ำแม่กลอง คิดเป็นร้อยละ 52.2 และแม่น้ำท่าจีนคิดเป็นร้อยละ 52

“ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณภาพแม่น้ำในประเทศไทยได้เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น ตัวอย่างเช่น มีการตรวจสอบพบสารพิษอันตรายในคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งรองรับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม (1) ผลการสำรวจครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังปฏิบัติไม่เพียงพอในการปกป้องแหล่งน้ำของเรา

การปล่อยสารพิษจากอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าสารพิษจะถูกปล่อยออกมามากหรือน้อยก็สามารถสะสมอยู่ในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารได้ และการเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษเป็นแนวทางพื้นฐานที่สำคัญให้รับรู้ข้อมูลและกระตุ้นสู่การลดการใช้สารพิษอันตราย” นายพลาย ภิรมย์ กล่าวสรุป

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 081-658-9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678

หมายเหตุ
[1] www.greenpeace.or.th/water-sampling
[2] ดาวน์โหลดผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อปัญหามลพิษทางน้ำ ปี 2551 ได้ที่http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-poll
[3] ดาวน์โหลดผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อปัญหามลพิษทางน้ำ ปี 2554 ได้ที่ www.greenpeace.or.th/waterpoll-2011
[4] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรณรงค์ ได้ที่ http://waterpatrol.greenpeace.or.th

ที่มา : กรีนพีซ