เนื้อหาวันที่ : 2011-03-23 18:17:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1393 views

ส่งออกลุยหาตลาดตะวันออกกลาง หวังฟื้นความเชื่อมั่น

กรมส่งออกฯ นำทัพลุยหาวัตถุดิบ-ตลาด ในตะวันออกกลาง-แอฟริกา หวังฟื้นความเชื่อมั่น เปิดประตูการค้าสู่ภูมิภาคใหม่

กรมส่งออกฯ นำทัพลุยหาวัตถุดิบ-ตลาด ในตะวันออกกลาง-แอฟริกา หวังฟื้นความเชื่อมั่น เปิดประตูการค้าสู่ภูมิภาคใหม่

กรมส่งออกฯฟื้นความเชื่อมั่น การค้าภูมิภาคแอฟริกา-ตะวันออกกลาง นำคณะลุยแสวงหาวัตถุดิบ-ตลาด หลังรู้แกวขาดเทคโนโลยี นวัตกรรมสินแร่ หวังผลักดันเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคใหม่แทนตลาดที่อาจจะมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ กานาจีบตั้งศูนย์กระจายสินค้า-กงสุลไทย

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงผลการเดินทางไป เคนยา แทนซาเนียและโมซัมบิก ระหว่างวันที่ 16-23 มีนาคม 2554 ตามนโยบายของรมว.พาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ภูมิภาคใหม่ว่า ทั้ง 3 ประเทศตั้งอยู่แอฟริกาตะวันตก ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาในลิเบียที่อยู่ทางตอนเหนือ และการเดินทางไม่ได้รับผลกระทบใด

โดยมาครั้งนี้เพื่อแสวงหาตลาดและวัตถุดิบอัญมณี เนื่องจากวัตถุดิบของไทยขาดแคลน และมีราคาผันผวน ประกอบกับสถานการณ์การค้าไทยกับภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกายังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.)10 แห่ง จึงมีเป้าหมายเพิ่มเติมในการเสาะแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต

ทั้งนี้รัฐบาลของแต่ละประเทศมีนโยบายในแนวทางเดียวกันที่จะส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยให้สิทธิพิเศษในการเข้ามาลงทุน พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี ในพื้นที่แหล่งอัญมณีที่คาดว่าจะใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปีขึ้นไป พร้อมๆ กับทั้ง 3 ประเทศต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มในวัตถุดิบ เครื่องมือและแรงงานฝีมือ

ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตและส่งออกในรูปของวัตถุดิบสินแร่ หรือ มีผู้ค้ามายังซื้อถึงแหล่งผลิต ไม่มีการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เก็บภาษีเข้ารัฐไม่เต็มที่ ส่งผลถึงงบประมาณในการพัฒนาประเทศตามมา อย่างไรก็ตามการพบเหมืองแร่ในแถบนี้ส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพิ่ม ซึ่งส่งผลถึงกำลังซื้อที่สินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

สำหรับปัญหาในแอฟริกาและตะวันออกกลาง สคร.ประเมินว่า ไม่น่าจะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยมากนัก เพราะไทยส่งออกไปภูมิภาคนี้แค่ 8.4% ของการส่งออกรวม และจากการประเมินภาพรวมเห็นว่า เหตุการณ์คงจะไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น

“ก่อนหน้านี้กรมฯได้เดินทางไปกานา ตั้งอยู่แอฟริกาฝั่งตะวันตก เพื่อหาลู่ทางการค้า ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากความวุ่นวายทางการเมือง โดยทางกานายินดีให้พื้นที่จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเจาะตลาดแอฟริกาเพื่อรองรับกำลังซื้อกว่า 235 ล้านคน เนื่องจากภาครัฐเห็นศักยภาพตลาดที่จะรองรับเครื่องมือ เครื่องจักรการเกษตร การก่อสร้างการเคหะ และการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน

พร้อมกับขอให้ไทยเปิดสถานกงสุลไทยในกานาด้วย เนื่องจากกานามั่นใจในคุณภาพสินค้าบริการของไทย โดยการเข้าเยี่ยมคารวะรองประธานาธิบดีกานาได้ชื่นชมเครื่องเก็บเกี่ยวและนวดข้าว 4 เครื่องจากไทย ปรากฏว่าเครื่องจากประเทศอื่นเสียหายหมดแล้ว แต่สินค้าของไทยยังใช้ได้ดี นั้นแสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ พร้อมกันนี้ไทยสนใจที่นะนำเข้าน้ำมันในโอกาสต่อๆ ไปด้วย”

ทั้งนี้การค้าระหว่างไทยกับ 3 ประเทศ มีมูลค่ารวม 381 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12,200 ล้านบาท โดยการค้าไทย-เคนยาปี 2553 มีมูลค่า 144 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 7.9 %โดยไทยส่งออกไปเคนยามีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาลทราย ข้าว เป็นต้น

การค้าไทยแทนซาเนีย 114 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20% โดยไทยส่งออก 84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญ คือ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ฯ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น การค้าไทย-โมซัมบิก 123 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น34% โดยสินค้าสำคัญ คือ ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ฯ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น