เนื้อหาวันที่ : 2011-03-22 10:11:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2373 views

กรุงเทพฯ แชมป์ซัพพรายพื้นที่สำนักงานอาเซียน

คอลลิเออร์สฯ เผยกรุงเทพฯมีพื้นที่สำนักงานมากที่สุดในอาเซียน ขณะที่โตเกียวเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ชี้เป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียน

คอลลิเออร์สฯ เผยกรุงเทพฯมีพื้นที่สำนักงานมากที่สุดในอาเซียน ขณะที่โตเกียวเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ชี้เป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียน

รายงานผลการสำรวจเอเชียแปซิฟิคของคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย (Colliers International Thailand) ระบุว่ากรุงเทพฯมีพื้นที่สำนักงานมากที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ทั่วอาเซียน รวมถึงสิงคโปร์ด้วย อันดับหนึ่งของเอเชียได้แก่โตเกียวซึ่งมีปริมาณพื้นที่อาคารสำนักงานสูงกว่ากรุงเทพฯประมาณ 10 เท่า

ดร. ปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ยืนยันว่าสถานภาพอันแข็งแกร่งของกรุงเทพฯเป็นตัวกระตุ้นที่ดีในการที่จะได้รับประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 “ภาคการบริการเป็นปัจจัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 และการที่กรุงเทพฯมีปริมาณพื้นที่สำนักงานอยู่มากพอสมควรประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นนั้นเป็นข้อได้เปรียบอย่างมหาศาล” นายปฏิมาแสดงความเห็น

รายงานของคอลลิเออร์แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครนั้นมีพื้นที่สำนักงานรวมประมาณ 7,900,000 ตารางเมตร ในขณะที่สิงคโปร์มีเกินกว่าเจ็ดล้านตารางเมตรอยู่เพียงเล็กน้อย

นายแอนโทนี พิคอน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์สฯให้ข้อมูลว่าเมืองอื่นๆ เช่น มะนิลา จาการ์ตา และกัวลาลัมเปอร์ถึงจะมีปริมาณพื้นที่น้อยกว่าแต่ก็ไม่มากนัก อุปทานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯสร้างขึ้นในยุค 1990 “เมืองอื่นๆ กำลังไล่ตามมาแต่การเปิดภาคบริการในประเทศไทยนั้นน่าจะก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ในการพัฒนาอาคารสำนักงาน" นายพิคอน-กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า

กิจกรรมทางการค้าในประเทศไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ในขณะที่ประเทศอื่นมีการกระจายตัวมากกว่า “ในฟิลิปปินส์ ตลาดอาคารสำนักงานที่เซบูมีขนาดใหญ่ อินโดนีเซียที่สุราบายา มาเลเซียที่ปีนัง ส่วนเวียดนามก็มีตลาดอาคารสำนักงานในฮานอยและดานังด้วย ขณะที่ในประเทศไทยมีอยู่ที่กรุงเทพฯเท่านั้น”

องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของเออีซีคือ การอนุญาตให้สัดส่วนทุนต่างประเทศจากประเทศภายในอาเซียนมาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมบริการภายในประเทศได้ถึง 70% ภายในปี 2558 "ต้องใช้เวลากว่าบริษัทต่างๆ จะให้ความสนใจและวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ”

“ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมบริการหลายประเภทที่มีศักยภาพในการแข่งขันในภูมิภาค อาทิเช่น สถาปัตยกรรมและไอที แต่บริษัทต้องพัฒนาทักษะของพนักงานให้เฉียบคมเป็นแชมป์ตัวจริงในระดับภูมิภาค” นายพิคอนกล่าวพร้อมเน้นย้ำว่า “ในอนาคต ทักษะด้านภาษาจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจทุกประเภท และนี่เป็นจุดหนึ่งที่ประเทศไทยต้องมุ่งหน้าพัฒนา"

อันตรายสำหรับประเทศไทยก็คือบริษัทต้องการที่จะปกป้องตัวเองจากบริษัทนอกอาเซียนที่จะใช้เออีซีเพื่อเจาะตลาดมากขึ้น “ยิ่งคุณสวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องตัวเองมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น” นายพิคอนกล่าวและว่า “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะไม่แกร่งเท่านี้ ถ้าไม่ได้แข่งขันฟาดฟันกับทีมอย่างเชลซีหรือลิเวอร์พูล”

ดร. ปฏิมา มองเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของกรุงเทพฯในฐานะผู้ให้บริการสำคัญในทศวรรษที่จะมาถึง "มีที่ดินที่เหมาะสำหรับพัฒนาอาคารสำนักงานอีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณใกล้ๆ เส้นทางขนส่งมวลชน นอกจากนั้นอัตราค่าเช่ายังแข่งขันภายในอาเซียนได้ไม่ยาก”

ทั้งนี้เชื่อว่าภาครัฐและเอกชนควรรวมพลังกันให้เร็วที่สุดเพื่อประกันว่าการเปิดเสรีในปี 2558 จะเป็นผลดีต่อประเทศ "หากแป็นเช่นนั้นเราจะได้เห็นยุคเรเนอซองของตลาดอาคารสำนักงานภายในห้าปีหลังของทศวรรษนี้โดยมีกรุงเทพฯเป็นหัวหอก” ดร.ปฏิมา กล่าวเสริม