เนื้อหาวันที่ : 2011-03-21 13:59:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 922 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 21 มี.ค. 2554

1. รมว.พลังงาน เรียกประชุม กบง. สัปดาห์หน้าเล็งอุดหนุนดีเซลอีก 50 สตางค์
-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะมีการเรียกประชุม กบง. พิจารณาอุดหนุนราคาดีเซลเพิ่มเติมอีกประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร หลังราคาน้ำมันดิบตลาดโลกและน้ำมันสำเร็จรุปปรับตัวสูงขึ้นจนผู้ค้าน้ำมันทุกราย ต้องปรับราคาน้ำมันทุกชนิดขึ้น 10-80 สตางค์ต่อลิตร โดยปตท. ปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นอีก 10 สตางค์ต่อลิตร

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปมีการเร่งปรับตัวสูงขึ้น  เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง  ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่มากขึ้นในการทำความร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่น อาจทำให้ต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสูงขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย 

นอกจากนี้ ยังส่งผลลบต่อสถานะกองทุนน้ำมันฯ โดยปัจจุบัน สถานะกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ไหลออกสุทธิ 286 ล้านบาทต่อวัน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงและดำเนินการใดๆ กองทุนน้ำมันจะอยู่ได้อีก 59 วัน ณ เงินอุดหนุนน้ำมันฯ ที่ระดับ 4.70 บาทต่อลิตร ( ผลการประชุมกบง. ครั้งที่ 67 ณ 17 มี.ค. 54)

2. พาณิชย์เผยส่งออกก.พ. 54 พุ่ง ขยายตัวร้อยละ 31.0
-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ. 54 ว่า การส่งออกเดือนก.พ. 54 ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.0 คิดเป็นมูลค่า 18,868 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นยอดการส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 22.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 17,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในเดือนก.พ.54 นี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

-  สศค.วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกของไทยในเดือนก.พ.54 ขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำ ซึ่งมีมูลค่าถึง 1,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหากหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกในเดือนก.พ. 54 จะขยายตัวร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในภาพรวมยังคงขยายตัวดี

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 33.1 46.4 และ 8.2 ตามลำดับ และในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวดีทุกตลาด เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่มียังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามทิศทางและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ รวมทั้งสินค้าเกษตรและอาหารที่ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

3. สึนามิ-นิวเคลียร์ญี่ปุ่นทำส่งออกป่วน ท่องเที่ยว-การลงทุนไทยสะดุด
-  มีรายงานว่าผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงทำให้เกิดผลกระทบทั้งความปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสี การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกลายเป็นผลดีต่อไทยที่จะได้รับอานิสงส์ในระยะยาว โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย  ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าทุนจากญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตจากไทยหรือในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล

โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมั่นใจว่า แผนการลงทุนจากญี่ปุ่นไม่มีการยกเลิก แต่ที่น่าห่วงคงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยวของไทย เพราะโดยปกติระยะนี้จะมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมาก เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม และมีเทศกาลวันหยุดยาว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แผนทุกอย่างก็ต้องยกเลิกทั้งหมด

-  สศค.วิเคราะห์ว่า วิกฤติสึนามิและนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจากแบบจำลองของ สศค. พบว่าจะทำให้จีดีพีลดลงร้อยละร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ตามในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจคาดว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้น

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง