เนื้อหาวันที่ : 2011-03-17 09:39:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2342 views

วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น ฤาจะเป็นบทสรุปอุตฯนิวเคลียร์

นักวิเคราะห์ยันวิกฤตโรงงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ส่งผลกระทบสร้างความวิตกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และการลงทุน

นักวิเคราะห์ยันวิกฤตโรงงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ส่งผลกระทบสร้างความวิตกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และการลงทุน

การระเบิดของเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสามแห่งของญี่ปุ่นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผลมาจากความล้มเหลวของระบบทำความเย็นและการสร้างสารไฮโดรเจน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 มีค 54) ทำให้หลายฝ่ายได้มุ่งความสนใจไปที่อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ และหวั่นวิตกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และการลงทุน รวมถึงได้มีการการหยิบยกประเด็นข้อกังวลของประเทศต่างๆที่มีการวางแผนการใช้พลังงานนิวเคลียร์

มร.ราวี กริชนาวามี นักวิเคราะห์ด้านพลังงาน, บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า “ถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะได้ให้ความมั่นใจต่อประชาชนของตนเองและชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นว่าอันตรายที่เกิดจากไอของสารกัมมันตภาพรังสีที่ได้ปล่อยออกไปนั้นมีค่อนข้างต่ำ และผนังของเตาปฎิกรณ์ก็ยังมีความหนาพอที่จะยืนยันถึงความปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามันอาจจะหลอมละลายลงหรือไม่ และหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอนาคตของอุตสาหกรรมนี้อย่างไร”

ภาคพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้จัดระเบียนความปลอดภัยอย่างไร้ที่ติมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ในความเป็นจริง การกล่าวในเชิงสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ (ว่าเป็นพลังงานที่สะอาด) ซึ่งได้กล่าวอ้างเสมอว่าญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่มีเกิดการสั่นสะเทือนอยู่ทุกปี โดยญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาห่วงโซ่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การก่อสร้าง รวมไปถึงการบำรุงรักษา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้ หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ อาทิ หน่วยงานที่รับผิดชอบของญี่ปุ่นมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ค่อนข้างช้า หรือเป็นเพราะภัยพิบัติเกิดขึ้นและขยายตัวเร็วเกินไป เครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ถูกออกแบบมาให้สามารถทนต่อแผ่นดินไหวระดับ 9 ขึ้นไปได้หรือไม่ และ ก่อนทำการการออกใบอนุญาตต่างๆ ได้มีการวิเคราะห์ถึงการป้องกันการเกิดเหตุการณ์กรณีที่เลวร้ายที่สุดดีพอหรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเครื่องปฎิกรณ์ที่มีอายุเก่ามาก เป็นต้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ว่า “ความกลัวต่อภาวะโลกร้อนและความหมดหวังต่อการเพิ่มฐานกำลังการผลิตพลังงานสะอาดส่งผลให้ความสนใจต่อพลังงานนิวเคลียร์มีมากขึ้น ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2553 เตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 56 โรงได้ถูกสร้างขึ้นในประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น

นอกจากนี้ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาเหนือ และยุโรป ได้มีการมุ่งมั่นพัฒนาแผนการผลิตไฟฟ้าใหม่หรือพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มเติม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้หมายความว่าอนาคตของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ อาทิ Areva, Hitachi- GE และ Toshiba-Westinghouse ดูจะสดใสมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทระดับโลกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Doosan จากเกาหลี Rosatom จากรัสเซีย ก็มีความหวังที่จะทำสัญญากับภาครัฐในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะจะก่อให้เกิดการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกหรือไม่นั้น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ในระยะยาว แต่ยังมีผลกระทบระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น

การตรวจสอบความปลอดภัยของกระบวนการต่างๆ - นิวเคลียร์ทุกโรงที่ถูกเปิดใช้งาน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในโซนที่เกิดแผ่นดินไหวได้ง่ายหรือไม่ มีแนวโน้มที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยของกระบวนการดำเนินการต่างๆที่รัดกุมมากขึ้น โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบนี้คือ The International Atomic Energy Agency (IAEA)

ค่าใช้จ่ายด้านการประกันภัย -ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร จำนวนเงินประกันภัยสำหรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากนิวเคลียร์จะสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แผนการนิวเคลียร์ของแต่ละประเทศ - เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฟุกุชิมะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากบางประเทศ เช่น ประเทศเยอรมัน ได้ประกาศระงับแผนการขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปเป็นเวลาสามเดือน และบางประเทศก็ได้ประกาศทบทวนนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ หากวิกฤติการณ์ในประเทศญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อรับรู้ของประชาชนทั่วโลก

ตลาดหลักทรัพย์ – ดูเหมือนว่าหุ้นในกลุ่มพลังงานนิวเคลียร์จะได้รับผลกระทบทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ อาทิเช่น หุ้นของบริษัทจีอี (GE) บริษัทผู้จัดจำหน่ายเครื่องปฎิกรณ์ในฟุกุชิมะซึ่งได้ตกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

การรับรู้ของสาธารณชน - การรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ค่อนข้างมีแนวโน้มไปในเชิงลบ (อย่างน้อยที่สุดก็ในระยะสั้น) ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐบาลต่างๆทั่วโลกต้องทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ให้มากขึ้น หรือเลื่อนการตัดสินใจที่สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ไปจนกระทั่งกระแสทางสังคมได้ลดลง

เทคโนโลยีพลังงานสำรอง – ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นจะหันเหความสนใจด้านเทคโนโลยีไปยังเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น พลังงานน้ำ และพลังงานถ่านหินสะอาด เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาถ่านหินสะอาดจะมีเพิ่มมากขึ้น และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมก็มีแนวโน้มจะได้รับผลประโยชน์ โดยบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์อย่างเช่น GE, Hitachi และ Doosan ก็ยังเป็นซัพพลายเออร์หลักของพลังงานทางเลือกเหล่านี้เช่นกัน