เนื้อหาวันที่ : 2011-03-16 15:15:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2384 views

โครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น

ราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือกลุ่มไทยเวอลด์ เพาเวอร์ ร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตรวม 224 เมกะวัตต์ คาดเดินเครื่องปี 57

ราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือกลุ่มไทยเวอลด์ เพาเวอร์ ร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตรวม 224 เมกะวัตต์ คาดเดินเครื่องปี 57

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”) บรรลุข้อตกลงและลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นในบริษัท ราชบุรีเวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด กับ กลุ่มบริษัท ไทยเวอลด์ เพาเวอร์ จำกัด ร้อยละ 40

สัญญาดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ร่วมทุนและพัฒนาโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่น จำนวน 2 โครงการ ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 112 เมกะวัตต์ รวม 224 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำโครงการละ 20 ตันต่อชั่วโมง โครงการดังกล่าวกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2557

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า “โครงการโคเจนเนอเรชั่นทั้ง 2 แห่ง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี โดยกระแสไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์จะจำหน่ายแก่ กฟผ. ส่วนไฟฟ้าที่เหลือและไอน้ำจะขายให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมราชบุรี ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดและรายได้เพิ่มขึ้นและฐานะการเงินมั่นคงยิ่งขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทฯ ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 4,622 เมกะวัตต์

 สำหรับ บริษัท ราชบุรีเวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับการพิจารณาข้อเสนอการขายไฟฟ้า จาก กฟผ. ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 MW จำนวน 2 โครงการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำได้ในปี 2557

“โครงการทั้งสองแห่งนี้เป็นระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานร่วม ซึ่งจะช่วยเสริมระบบไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดให้มีความมั่นคงมากขึ้น ทำให้ภาระของภาครัฐในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ลดลง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เพราะเทคโนโลยีโคเจนเนอเรชั่น มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานถึงร้อยละ 80 สูงกว่าระบบผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 40-50

โดยความร้อนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทำไอน้ำจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรม ช่วยลดต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม หรือค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต และเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมของประเทศ” นายนพพล กล่าวปิดท้าย