เนื้อหาวันที่ : 2011-03-16 10:02:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 917 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 15 มี.ค. 2554

1. ธปท. คาดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นกระทบไม่มากนัก
-  ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะส่งผลกระทบด้านการค้าขายและส่งออกระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการปัญหาและการบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนั้นจึงน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 1. ภาคการส่งออกของไทยในปี  54 เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทยโดยมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 10.5 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 53 และ 2. ภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาไทย

ในขณะที่ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจากญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20.0 ของการลงทุนโดยตรงรวมนั้น คาดว่าไม่ค่อยกระทบมากนัก เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการการลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม คาดว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ 0.1 ทั้งนี้สศค.จะมีการปรับประมาณเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. 54 นี้

2. ส.อ.ท.เผยผลหารือ "เจโทร" ยันภัยพิบัติในญี่ปุ่น ไม่กระทบการลงทุนในไทย
-  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) เกี่ยวกับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มทางตอนเหนือของญี่ปุ่น โดยทางเจโทรยืนยันว่าการประสบอุบัติภัยของญี่ปุ่น จะไม่กระทบกับการลงทุนในไทยของญี่ปุ่นที่มีประมาณ 4 แสนล้านบาท เพราะส่วนใหญ่เป็นการการลงทุนระยะยาว เชื่อว่าญี่ปุ่นจะยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทยต่อไป

-  สศค. วิเคราะห์ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น  ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้หยุดชะงักลง แต่อย่างไรก็ดีประเทศญี่ปุ่นมีการเตรียมการอย่างดีเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในกรณี ต่างๆ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสพเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งกระทบต่อญี่ปุ่นในระยะสั้นเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ทั้งนี้ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงอันดับ 1 ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยในปี 53 การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมีมูลค่า 1,062.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสัดส่วนร้อยละ 20.02 ของการลงทุนรวม

3. กองทัพ รบ.ลิเบีย ยึดคืนเมืองศูนย์กลางน้ำมันจากฝ่ายต่อต้าน
-  กองกำลังของ พ.อ. กัดดาฟี ผู้นำลิเบียสามารถยึดคืนเมืองเบรกา เมืองศูนย์กลางด้านน้ำมันของประเทศไว้ได้แล้ว ขณะที่ฮิลลารี  คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ บินด่วนไปฝรั่งเศสเพื่อหารือกับแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบีย เป็นที่คาดกันว่าในการพบหารือระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่มีขึ้นในวันนี้ จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะใช้มาตรการทางทหารเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในลิเบีย

-  สศค. วิเคราะห์ว่า หากสถานการณ์ในลิเบียยังคงยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาลุกลามไปยังกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ เช่น ซาอุฯ และอิหร่าน ที่มีกำลังการผลิต 8.1 และ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงทั้งหมด

โดยเฉพาะทางด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นใน 3 สาขาเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และบ้านที่อยู่อาศัย ที่มีความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 38 36 และ 14 ของความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของไทยทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มร้อยละ 20 จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มร้อยละ 2.2 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง