เนื้อหาวันที่ : 2011-03-08 17:16:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 811 views

กก.ฝันรัฐลงทุนท่องเที่ยวแสนล้านคืนทุนกว่าล้านล้าน

นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ป.กก.) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และตระหนักถึง เรื่องการท่องเที่ยว และการกีฬาของชาติ โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศไทย วงเงินงบประมาณ 7,000 ล้านบาท ปี 2555-2557

ควบคู่กับอนุมัติการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด อำเภอ และตำบลทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 35,000 ล้านบาท ปี 2555-2559 เป็นวงเงินด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา เพื่อสร้างสรรค์ศักยภาพการท่องเที่ยวและการกีฬาของประเทศไทย กว่าครึ่งแสนล้านบาท และงบประจำปีของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปีละประมาณสองหมื่นล้านบาท 5 ปีประมาณแสนล้านบาท จะส่งผลเป็นผลตอบแทนการลงทุนในครั้งนี้ของประเทศไทยในอนาคต มากกว่าล้านล้านบาทอย่างแน่นอน

นายสมบัติ คุรุพันธ์ ป.กก. กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พยายามที่จะผลักดันการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวไทย ควบคู่กับการกีฬาไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศไทย

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในแผนปฏิบัติฯ และมอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานตามแผนโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและให้คงศักยภาพทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามกรอบแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเท โดยมีเป้าหมาย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีศักยภาพครอบคลุมพื้นที่ 8 กลุ่มท่องเที่ยว ในระยะเวลา 3 ปี (ปี พ.ศ. 2555-2557)

สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพของประเทศ และงบประมาณสำหรับดำเนินการ โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มท่องเที่ยว 385 โครงการ ซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2557 ดังนี้ 1)โครงการกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 7 จังหวัด คือ จังหวัดเชียวงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน 46 โครงการ งบประมาณ 983,280,000 บาท

2) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 8 จังหวัด คือจังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ใกล้เคียงกัน 57 โครงการ งบประมาณ 475,180,000 บาท

3) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยถูมิ อุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกันอีก 1 จังหวัด คือ สระแก้ว 26 โครงการ งบประมาณ 230,650,000 บาท

4) โครงการกลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 6 จังหวัด คือ จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกาดหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน 60 โครงการ งบประมาณ 612,600,000 บาท

5) โครงการกลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 14 จังหวัด คือ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน 55 โครงการ งบประมาณ 454,320,000 บาท

6) โครงการกลุ่มท่องเที่ยว Active Beach ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 4 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน 44 โครงการ งบประมาณ 770,090,000 บาท 7) โครงการกลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 4 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน 24 โครงการ งบประมาณ 859,200,000 บาท 8) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวมหัศจรรย์สองสมุทร

ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน 73 โครงการ งบประมาณ 2,356,270,000 บาท ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการปฏิบัติตามแผนดังกล่าว จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ ได้รับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล เพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในระดับนานาชาติ

นายสมบัติ กล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินการตามมติครม. ทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องดำเนินงานมีการสอดรับกันและส่งเสริมกัน จะต้องมีการเตรียมแผนงานที่ชัดเจน และดำเนินการวางแผนเชิงปฏิบัติการ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอด องค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)

ซึ่งอปท. ทั้งหลายจะต้องเตียมแผนเกี่ยวกับอัตรากำลังบุคลากร/งบประมาณ ในการดูแล/บำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวทั้งระยะสั้น/ระยะยาว การจัดโครงการ/กิจกรรมให้ต่อเนื่อง และการเริ่มปรับเตรียมตั้งแต่บัดนี้โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดองค์ความรู้ในด้านการท่องเที่ยว จัดฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้ และเป็นพี่เลี้ยงให้จนกว่า อปท.ต่างๆ จะสามารถดำเนินงานบริหารจัดการท่องเที่ยวได้เองอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และถูกหลักวิชาการ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความยั่งยืน และความคุ้มค่า ของการลงทุนของรัฐบาล ให้แก่ชุมชน เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ ตลอดจนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวประเทศไทย ให้มีการพัฒนาเป็นไปตามลำดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดประเทศ ไปสู่ระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติในระยะ 5 ปีต่อไป