เนื้อหาวันที่ : 2011-03-03 12:00:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 833 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 3 มี.ค. 2554

1. เอ็กซิมแบงค์คาดส่งออกปี 54 ชะลอเนื่องจากปัจจัยเสี่ยง
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) มองว่า ปี 2554 การส่งออกไทยไม่ขยายตัวสูงเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาราคาน้ำมัน จะกระทบเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น คาดว่ายังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาว่างงานและหนี้สาธารณะ ขณะที่ตลาดใหม่ อย่างจีน เริ่มมีสัญญาณชะลอการเติบโตเพื่อรักษาเสถียรภาพ

- สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 22.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวได้ดีของหมวดสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ และสินค้าเกษตร

ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนอยู่ในระดับร้อยละ -2.9 เนื่องจากตลาดส่งออกหลักลดการสั่งซื้อเพื่อระบายสต๊อกสินค้า โดยตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ และยุโรป ขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 17.3 และ 21.1 ตามลำดับ

สำหรับญี่ปุ่นและจีนขยายตัวร้อยละ 15.1 และ 31.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อของค่าเงิน ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ สศค.คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 12.2 และ 14.2

2.  อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้เดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 4.5 สูงสุดรอบ 27 เดือน
- สำนักงานสถิติแห่งประเทศเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 4.5  ซึ่งมากกว่าในเดือน ม.ค. ร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ แล้วยังส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อีกด้วย

- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศเกาหลีใต้สูงกว่าที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 4.0 เป็นผลมาจาก 1) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ความรุนแรงในแอฟริกาเหนือ 2) ราคาอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า GDP ของเกาหลีใต้จะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.4 ในปี 54 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53)

3.  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี
- สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ (ISM)   ณ เดือน ก.พ. 54 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ระดับ 61.4  (เดือน ม.ค. 54 ที่ระดับ 60.8) ทั้งนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวสูงขึ้น

- สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับตัวที่สูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ณ เดือน ก.พ. 54 ถือเป็นสัญญาณการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐในภาคอุปทาน เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.5

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงร้อยละ 9.1 ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 4 ที่อยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 2.8 ต่อปี ซึ่งมีสาเหตุจากการชะลอตัวของการบริโภคและการก่อสร้าง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7  ต่อปี

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง