เนื้อหาวันที่ : 2011-03-03 10:08:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 757 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 มี.ค. 2554

1. เงินเฟ้อเดือน ก.พ. 54 สูงขึ้นร้อยละ 2.87
-  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 53 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนเเรกของปี 54  ขยายตัวร้อยละ 2.95 ทั้งนี้ เงินเฟ้อในปี 54 จะเป็นไปตามกรอบที่ประเมินไว้  คือ สูงขึ้นไม่เกินร้อยละ 3.7 โดยภาวะเงินเฟ้อไม่ได้ผันผวนตามความตื่นตระหนกของสินค้าบางรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น น้ำมันปาล์ม เเต่เป็นการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

-  สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 54 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ดัชนีราคาในหมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.15 2) ดัชนีราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.53 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศในเดือน ก.พ. 54 ปรับตัวสูงตามราคาน้ำมันโลกที่ขยายตัวร้อยละ 36.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 53 รวมทั้งการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ พนักงานเอกชน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

2. ก.อุตสาหกรรมยืนยันปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ กระทบกระบะ-พีพีวีน้อย
-  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ 4 ค่ายรถผู้ผลิตรถกระบะ ได้แก่ บริษัทโตโยต้า มิตซูบิชิ อิซูซุ และเจเนอรัล มอเตอร์ ว่า การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์จะส่งผลกระทบต่อรถกระบะ และรถกระบะ 5 ประตู (พีพีวี) น้อยมาก โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีไม่ถึง 5% และให้ระยะเวลาในการปรับตัวไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งมองว่าค่ายรถยนต์สามารถปรับตัวได้ทัน

เนื่องจากค่ายรถยนต์มีเทคโนโลยีที่มีความพร้อม และหากพัฒนาเรื่องการประหยัดพลังงาน การปล่อยมลพิษ และเรื่องความปลอดภัยได้ดี อาจจะทำให้เสียภาษีในอัตราเท่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของแต่ละบริษัท เช่น หากพัฒนาเรื่องการประหยัดพลังงานไม่ทัน ก็ใส่เรื่องความปลอดภัยเข้าไปเพิ่มเติม ก็จะทำให้ได้ภาษีอยู่ในระดับต่ำได้

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ตลาดรถกระบะ 1 ตันมีสัดส่วนยอดขายในประเทศประมาณร้อยละ 44 ของยอดขายทั้งหมด และรถพีพีวีมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่การส่งออกรถกระบะส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 67 และพีพีวีส่งออกร้อยละ 9 ของการส่งออกทั้งหมด

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและหันมาซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น พิจารณาได้จากปริมาณการผลิตรถยนต์ในเดือนม.ค.54 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 21.6 และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 29.7  ต่อเนื่องจากในปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 42.3

3. ดัชนี PMI ของจีนในดือน ก.พ.54  ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
-  สมาพันธ์โลจิสติคส์และการจัดซื้อแห่งชาติของจีน (CFLP) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนในเดือน ก.พ.54  ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 52.2  และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 52.9  ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index : PMI) ที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน  เป็นการลดลงทั้งในหมวดยอดการสั่งซื้อสินค้าใหม่และผลผลิต  โดยในเดือน ก.พ. 54 ยอดการสั่งซื้อสินค้าใหม่อยู่ที่ระดับ 54.3 และผลผลิตอยู่ที่ระดับ 53.8  ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 53 ที่อยู่ที่ระดับ 58.3 และ 58.5 ตามลำดับ 

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก 1) อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 4.9)  และ 2) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเพิ่มเงินสดสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์  ทั้งนี้  สศค. คาดว่า  อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 54 จะยังคงสามารถเติบโตได้ดี  แม้ว่าดัชนี PMI ของจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง