เนื้อหาวันที่ : 2011-03-02 10:16:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2761 views

สช.ชี้การทำเหมืองส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้านชัดเจน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เผยอาณาจักรเหมืองแร่ จ.เลย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของชาวบ้าน แนะชุมชนปกป้องสิทธิตนเอง จี้ภาครัฐเร่งเยียวยา

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เผยอาณาจักรเหมืองแร่ จ.เลย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของชาวบ้าน แนะชุมชนปกป้องสิทธิตนเอง จี้ภาครัฐเร่งเยียวยา

หลังจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ชะลอการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ จนกว่าจะได้ข้อสรุปของการปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่ วิถีความเป็นอยู่แบบพอเพียงของชาวบ้านและผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เยียวยาแก้ไข ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากชาวบ้านร้องทุกข์กรณีได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

วันนี้ (1 มีนาคม 2554 ) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็นกรณี “เหมืองแร่ทองคำ: ความมั่งคั่งหรือทุกขภาวะ” ขึ้นโดยการเสวนาครั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นต่างๆ พร้อมทั้งเปิดรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA เป็นครั้งแรก

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้รับรองสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพหลายเรื่อง ทั้งใน มาตรา 5 ที่ระบุว่าทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มาตรา 11 ระบุว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในการกระบวนการประเมินผลกระทด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ รวมทั้งมีสิทธิได้รับข้อมูล ชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ

ในปี 2551 สช. ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) และชาวบ้าน บ.นาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จึงเริ่มดำเนินการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน หรือ CHIA ซึ่งเป็นช่องทาง 1 ใน 4 ในการทำ HIA ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552

“กรณีที่จังหวัดเลยชุมชนริเริ่มทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้ชุดข้อมูล องค์ความรู้ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้น รวมถึงนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย ที่ขณะนี้หลายๆ หน่วยงานกำลังร่วมมือกันเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำรงอยู่ของผู้คนในจังหวัดเลย” นพ.อำพลกล่าว

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ผลตรวจเลือดของประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ ประกอบด้วย บ.ห้วยผุก บ.กกสะทอน บ.นาหนองบง บ.แก่งหิน บ.โนนผาพุงพัฒนา และ บ.ภูทับฟ้า จำนวน 474 ตามโครงการศึกษาวิจัย “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชานผู้อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ปีงบประมาณ 2552” ที่เจาะเลือดระหว่างวันที่ 5-6, 19-21 มิถุนายน 2553 ดำเนินการโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) ร่วมกับ รพ.วังสะพุง

ส่งตรวจหาสารไซนาไนด์ที่ รพ.รามาธิบดี และส่งตรวจสารโลหะหนัก (ปรอทและตะกั่ว) ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์นี้พบว่า พบสารโลหะหนักโดยเฉพาะปรอทปนเปื้อนในเลือดของทุกคน โดย 38 คนมีค่าเกินมาตรฐาน นอกจากนี้พบมีไซยาไนด์ในเลือด จำนวน 348 คน โดย 84 คนมีค่าเกินมาตรฐาน มีเพียง 103 คนที่ไม่พบไซยาไนด์ในเลือด ขณะเดียวกันยังพบสารตะกั่วในเลือดของทุกคนอีกด้วย

“ผลการตรวจครั้งนี้มาจากการเปิดเผยอย่างเป็นทางการของ สสจ.เลย เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าผลที่เกิดขึ้นมาจากการรับสารตกค้างในน้ำ ในสภาพแวดล้อมต่างๆ บางคนเกิดผดผื่น

มีปัญหาผิวหนัง ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาตว์เลี้ยงของชาวบ้านเช่น ไก่ สุนัขทยอยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการทำ HIA ถือเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยกันดูผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว กระบวนการนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมไทยให้ดีขึ้น เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ” นพ.ปัตพงษ์กล่าว

นางวัชราภรณ์ วัฒนขำ หัวหน้างานรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จ.เลย กล่าวว่า นอกจากกรณีผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ จังหวัดเลยยังมีการทำเหมืองแร่อื่นๆ ในอีกหลายพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด รวมถึงกรณีการลักลอบขุดแร่เถื่อนในอีกหลายพื้นที่

ทั้งนี้ในกรณีเหมืองแร่ทองคำชาวบ้านได้มีการศึกษาและเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ และชุดข้อมูลนี้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจหรือแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว เช่นกรณีที่นำไปยื่นต่อสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการเยียวยาแก้ไขผลกระทบที่เกิดขั้น

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า จังหวัดเลยมีวิสัยทัศน์ว่าเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว และลงทุนภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลยรวมทั้งข้อมูลการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพที่ชุมชน บ.นาหนองบงจัดทำ

ทำให้เห็นว่านโยบายการพัฒนาจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และนำมาซึ่งผลกระทบและความขัดแย้ง ดังนั้นจึงควรมีการสร้างนโยบายแบบบูรณาการทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่ร่วมจัดทำนโยบายที่มาจากความต้องการชองพื้นที่ และเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของสังคม

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ