เนื้อหาวันที่ : 2011-02-28 14:46:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2450 views

SSIเซ็นซื้อโรงถลุงTCPอังกฤษ พร้อมเดินหน้าผลิตเต็มกำลัง

ดีลประวัติศาสตร์เหล็กไทย SSIเซ็นซื้อโรงถลุงTCPอังกฤษ 3แบงก์เชื่อมั่นหนุน 600 ล้านเหรียญลงทุน

ดีลประวัติศาสตร์เหล็กไทย SSIเซ็นซื้อโรงถลุงTCPอังกฤษ 3แบงก์เชื่อมั่นหนุน 600 ล้านเหรียญลงทุน

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่อุตสาหกรรมเหล็กไทย เอสเอสไอลงนามซื้อขายโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร (Teesside Cast Products) ประเทศอังกฤษ มูลค่า 469 ล้านเหรียญสหรัฐฯจาก Tata Steel UK Limited แล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เดินหน้าดำเนินการให้โรงงานสามารถกลับมาผลิตเต็มกำลังโดยเร็ว พร้อมสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนที่อังกฤษไม่ต่ำกว่า 800 คน เผยหนุนปริมาณขายเอสเอสไอ เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านตันในอีก3ปีข้างหน้า

ลดต้นทุนการผลิต ค่าขนส่งวัตถุดิบและภาระดอกเบี้ย รวมทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาขายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง สร้างภูมิต้านทานต่อทุกสถานการณ์ในวงจรอุตสาหกรรมเหล็ก ชี้ดีลสำเร็จเพราะชุมชน รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนเต็มที่ ในขณะที่3 สถาบันการเงิน ไทยพาณิชย์ กรุงไทย ทิสโก้ มั่นใจร่วมสนับสนุนทางการเงินสกุลบาท 23,900 ล้านบาท และสกุลดอลลาร์ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (18,000 ล้านบาท) พร้อมลงทุน

นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์โรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร (Teesside Cast Products) ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษมูลค่าประมาณ 469 ล้านเหรียญสหรัฐฯจาก Tata Steel UK Limited ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

การลงนามในสัญญาซื้อขายนี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนามการสนับสนุนทางการเงิน ได้แก่ สัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 23,900 ล้านบาทแก่บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และสัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,000 ล้านบาท) แก่ Sahaviriya Steel Industries UK Limited (SSI UK)จาก 3 สถาบันการเงินประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารทิสโก้ ในวันเดียวกันที่ประเทศไทย

สินทรัพย์ดังกล่าวจะถูกรับมาดำเนินการภายในเดือนมีนาคม 2554 โดยบริษัทย่อยของเอสเอสไอ คือ SSI UK ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษ การเข้าทำการซื้อขายครั้งนี้ และจะนำไปสู่การจ้างงานที่อังกฤษจะเกิดขึ้นสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 800 อัตรา เพิ่มขึ้นจากพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน 700 กว่าคนในโรงงานถลุงเหล็ก TCP บริษัทจะรับสมัครพนักงานเหล่านี้ทำงาน และเร่งสรรหาบรรจุพนักงานเพิ่มเติม ให้มาปฏิบัติงานเพื่อดำเนินการเดินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบหลังจากที่โรงงานถลุง TCP ได้หยุดดำเนินการผลิตมาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553

การซื้อสินทรัพย์ของ Teesside Cast Products (TCP) นอกจากจะทำให้เอสเอสไอบรรลุวัตถุประสงค์หลักสำหรับการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจรในระดับเวิลด์คลาส มีรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในอนาคต และสร้างภูมิต้านทานให้กับบริษัทต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวงจรอุตสาหกรรมเหล็กแล้ว ยังจะส่งผลให้ปริมาณขายผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2.24 ล้านตันในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านตันในอีก3ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 56

ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 170 บาทต่อตัน หรือเทียบเท่า 590 ล้านบาทต่อปี ประหยัดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบจากการขนส่งโดยใช้เรือที่มีขนาดระวางใหญ่ขึ้น (Panamax) 790 ล้านบาทต่อปี ลดภาระดอกเบี้ย 120 ล้านบาทต่อปีจากการสำรองวัตถุดิบที่ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจะทำให้บริษัทมีกำไรจากส่วนต่างของราคาขายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1,640 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การเข้าซื้อสินทรัพย์เป็นกลยุทธ์ของเอสเอสไอในการขยายธุรกิจ สู่อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำ และรองรับกับกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจเหล็กแผ่นแบบครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

นายวิน กล่าวว่าการซื้อสินทรัพย์นี้เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญทั้งของ Teesside Cast Products (TCP) และเอสเอสไอในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนของคนไทย และนับเป็นโอกาสและก้าวที่ท้าทายของบริษัทเหล็กคนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่งคงทางด้านเหล็ก โดยเฉพาะปริมาณสำรองเหล็กในประเทศซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาการขาดดุลเหล็กให้กับประเทศปีละ4 แสนล้านบาท ลดความผันผวนต้นทุนโครงการพัฒนาต่างๆที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ผลกำไรที่จะเกิดขึ้นถูกส่งกลับมาเป็นรายได้ของประเทศอีกด้วย

การซื้อสินทรัพย์นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากซึ่ง ความรักความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น ที่มีต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และความช่วยเหลือที่ดียิ่งจากรัฐบาลอังกฤษ เราหวังว่าจะกลับมาดำเนินการผลิตเหล็กแท่งแบนที่มีคุณภาพสูงสุดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้