เนื้อหาวันที่ : 2011-02-28 09:54:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1251 views

สคร.ชูพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจ หวังดึงกลับมาสร้างกำไร

สคร. ชูประเด็นการพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจ ในที่ประชุม กนร. หวังช่วยพ้นภาวะวิกฤต สามารถอยู่รอด และกลับมาสร้างผลกำไรให้กับองค์กร

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ

สคร. ชูประเด็นการพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจ ในที่ประชุม กนร. หวังช่วยพ้นภาวะวิกฤต สามารถอยู่รอด และกลับมาสร้างผลกำไรให้กับองค์กร

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการฯ ได้ผลักดันวาระเร่งด่วนเข้าที่ประชุม เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหา เพื่อช่วยให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นพ้นภาวะวิกฤต สามารถอยู่รอด และกลับมาสร้างผลกำไรให้กับองค์กรต่อไป โดยที่ประชุม กนร. ได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ สรุปได้ดังนี้

แนวทางแก้ปัญหาของบริษัท ไม้อัดไทย จำกัด (มอท.) ที่ถือหุ้นโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) นั้น ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง มีผลประกอบการขาดทุนเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2541 และมีหนี้สินค้างชำระอีกกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้นคณะกรรมการบริหาร อ.อ.ป.จึงมีมติให้ มอท.แก้ไขปัญหาตามแผนของที่ปรึกษาทางการเงิน ที่เสนอให้ มอท. ร่วมทุนกับภาคเอกชน ในสัดส่วน 49 : 51

โดย มอท.จะนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งตราสินค้า “ช้างสามเชือก” ตีมูลค่าเป็นเงินลงทุนและขายให้บริษัทร่วมทุนในวงเงินประมาณ 100-150 ล้านบาท สำหรับที่ดินของที่ตั้งโรงงานจำนวนประมาณ 133 ไร่ จะให้เช่ากำหนดระยะเวลา 30 ปี คิดค่าเช่าเริ่มต้นประมาณ 17 ล้านบาทต่อปี และปรับเพิ่มทุก 3 ปี

ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติให้ สคร. และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กลับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาผลขาดทุนของ มอท. โดยให้จัดทำแนวทางการจัดการ สินทรัพย์ หนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของ มอท. ทั้งนี้ ให้นำนัยของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 84 (1) พิจารณาประกอบด้วย และให้กลับมานำเสนอในที่ประชุม กนร. ภายใน 3 เดือน

ในส่วนของแนวทางการปรับบทบาทการกำกับดูแลระบบขนส่งมวลชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ประชุม กนร. มีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมทบทวนมติครม. วันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่องนโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งจัดทำแผนการปรับบทบาทการกำกับดูแลและการดำเนินงานระบบการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และนำกลับมาเสนอในที่ประชุม กนร. ต่อไป

2. เห็นชอบในการจัดหารถโดยสารใหม่ทดแทนรถโดยสารเก่าที่ปลดระวาง เสียหาย ซ่อมบำรุงไม่ได้ และมีอายุการใช้งานเกิน 17 ปีขึ้นไป ในจำนวนไม่เกิน 1,957 คัน ประกอบด้วยรถธรรมดา 1,579 คัน และรถปรับอากาศ 378 คัน ทั้งนี้ ให้ใช้บริการอุตสาหกรรมการต่อรถและซ่อมบำรุงรถในประเทศเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ นอกจากนี้ สคร. ยังได้เสนอให้มีการจัดประมูลเป็นการทั่วไป ในส่วนของเครื่องยนต์ และ แชสซีส์ (chassis) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมในกระบวนการสรรหา

ในส่วนของโครงการให้เอกชนเข้ามาร่วมงานในกิจการท่าเรือแหลมฉบังนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเสนอในการขอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในสัญญาประกอบการท่าเทียบเรือ A3, C1, C2, D2 และ D3 ท่าเรือแหลมฉบัง และได้มีมติเห็นชอบ

1. อัตราคิดลด (Discount Rate) ร้อยละ 10 ตามที่ บริษัท ฮัทชิสันฯ เสนอขอปรับการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 30 ปี (ประมาณ4%)ประกอบกับ risk premium ของอุตสาหกรรมที่เทียบเคียงกันได้ ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 5 – 6% ซึ่งทำให้มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของผลตอบแทนรวมตลอดอายุสัญญาไม่แตกต่างกัน

2. การขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด D (D1 D2 และ D3) จากเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 2554 เป็นปี 2560 จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของ กทท. เนื่องจาก กทท. มี excess capacity เพียงพออย่างไรก็ดี การเห็นชอบการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

นอกจากนั้น นายไตรรงค์ ยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาการขาดทุนและมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนพลิกฟื้นองค์กรและความช่วยเหลือสำหรับ กคช. ดังนี้

1. เห็นชอบให้ กคช. ดำเนินธุรกรรมโครงการบ้านเอื้ออาทรไว้ที่ กคช.ต่อไป และเห็นชอบในหลักการลงทุนพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ

2. เห็นชอบมาตรการอุดหนุนหรือชดเชยเพิ่มเติมจากรัฐสำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ยังคงไว้ที่ กคช. ดังนี้
2.1 การขอขยายวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมจากเดิม 780 ล้านบาท เป็น 2,240 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้ออาคารคืนจากสถาบันการเงิน ในกรณีที่ผู้ซื้อขาดชำระติดต่อกัน 3 เดือน โดยรัฐรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อคืนแทน กคช.

2.2 การอุดหนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่เกิดขึ้น สำหรับหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถขายได้ตามจำนวนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง จำนวน 297 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 16 มิถุนายน 2552

2.3 การอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินทรัพย์รอการพัฒนาในลักษณะเงินยืมดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ปี เพื่อให้ กคช. พิจารณานำทรัพย์สินดังกล่าวจำหน่ายให้เกิดรายได้โดยเร็ว โดยให้ทบทวนวงเงินยืมให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 16 มิถุนายน 2552

3. การขอเสนอขายโครงการในลักษณะยกอาคารหรือขายทั้งโครงการ โดยสามารถขายให้ต่ำกว่า 390,000 บาท จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินโดยบริษัทกลาง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สคร. จะประสานกับรัฐวิสาหกิจต่างๆ เหล่านี้ เพื่อติดตาม วิเคราะห์ และร่วมแก้ไขปัญหา ตลอดจนสนับสนุนการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก เพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไป