เนื้อหาวันที่ : 2011-02-28 09:28:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1231 views

วอนรัฐรอผลวิจัยใยหิน หวั่นคนไทยตกเป็นเหยื่อต่างชาติ

เอกชนประสานเสียงวอน "อภิสิทธิ์" ทำวิจัยศึกษาข้อมูลใยหินก่อนสั่งเลิกนำเข้า หวั่นคนไทยตกเป็นเหยื่อใช้ของแพงแต่ด้อยคุณภาพ แนะเลิกเหล้า-บุหรี่มีประโยชน์กว่าหมื่นเท่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

เอกชนประสานเสียงวอน "อภิสิทธิ์" ทำวิจัยศึกษาข้อมูลใยหินก่อนสั่งเลิกนำเข้า หวั่นคนไทยตกเป็นเหยื่อใช้ของแพงแต่ด้อยคุณภาพ แนะเลิกเหล้า-บุหรี่มีประโยชน์กว่าหมื่นเท่า

วอนนายกฯ ทำวิจัยเพื่อศึกษาข้อมูลใยหินในประเทศไทยให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเลิกนำเข้า ชี้หากอาศัยเฉพาะข้อมูลจากต่างชาติจะเข้าทางกลุ่ม IBAS ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว เผยวิธีการนำไปใช้ของต่างชาติกับไทยแตกต่างกัน ในหลายประเทศที่รู้ทันฝรั่งก็ไม่รับคำร้องให้เลิกใช้ใยหิน เช่น ในอินเดีย และเวียดนาม ย้ำผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มหลายพันล้านบาทต่อปี เพื่อใช้สินค้าราคาแพง แต่คุณภาพด้อยลง แนะรัฐเลิกเหล้า-บุหรี่ มีประโยชน์กว่าเป็นหมื่นๆ เท่า

ตามที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน เนื่องจากองค์การสากล ได้แก่ องค์การอนามัยโลก และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งนั้น

นายมานพ เจริญจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ไครโซไทล์ กล่าวว่า การอ้างข้อมูลจากต่างประเทศ แล้วตัดสินใจยกเลิกการนำเข้าใยหินมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยนั้น ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เนื่องจากลักษณะการใช้งานใยหินในต่างประเทศแตกต่างจากประเทศไทย

บางประเทศนำไปพ่นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นจากสภาพอากาศ ทำให้มีความเข้มข้นของใยหินสูงถึง 80-90% จึงมีความเสี่ยงต่อการกระจายของเส้นใยหินมากกว่า ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ โดยนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ที่มีสัดส่วนเพียง 6-8% และเมื่อผสมในซีเมนต์แล้วก็เป็นเรื่องยากที่เส้นใยหินไครโซไทล์จะฟุ้งกระจายในอากาศจนก่อให้เกิดอันตราย

ปัจจุบันแร่ใยหินไครโซไทล์ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใน 114 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 5,565 ล้านคน และมีเพียง 48 ประเทศที่ห้ามใช้ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1,048 ล้านคนเท่านั้น โดยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ยังคงอนุญาตให้ใช้ใยหินไครโซไทล์ในสินค้าบางประเภท

“รัฐบาลควรจะให้สถาบันที่เป็นกลาง ทำการศึกษาผลกระทบของใยหินในด้านต่างๆ อย่างชัดเจนก่อน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทำ ทางศูนย์ฯ ก็ยินดีจะประสานงานกับนักวิชาการ หรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพื่อทำเรื่องนี้ เพราะหากตัดสินใจยกเลิกไปแล้วจะกลับมาใช้อีกคงยาก และหากรัฐบาลไม่ฟังผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็ไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะพึ่งใคร” นายมานพกล่าว

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจและผู้ศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสใยหินในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี กล่าวในการแถลงข่าวว่า จากการศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์ (เมโสเธลิโอมา) พบว่า จากการรายงานผู้ป่วยเมโสเธลิโอมารายแรกในปี 2511 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางด้านการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนว่าใยหินเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเมโสเธลิโอมารายแรกนั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะมีการนำเข้าใยหินไครโซไทล์มาใช้ในอุตสาหกรรมในปี 2518 และบางรายที่ป่วยไม่มีประวัติทำงานในโรงงานกระเบื้องหรือสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์แต่อย่างใด จนกระทั่งกรณีที่มีรายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสใยหิน

แต่จากการตรวจสอบประวัติผู้เสียชีวิตรายนี้พบว่า เคยทำงานในโรงงานกระเบื้อง และสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง จึงทำให้เชื่อว่าสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานมากกว่าการเป็นโรคเมโสเธลิโอมาจากการสัมผัสใยหิน เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายอื่นในโรงงานดังกล่าวแต่อย่างใด

“ผมมีความเห็นว่า หากจะรณรงค์ต่อต้านการใช้ใยหิน ไปรณรงค์เลิกปลูกต้นยาสูบและเลิกผลิตบุหรี่ในประเทศ รวมทั้งเลิกนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ จะได้ผลช่วยอนุรักษ์สุขภาพและเศรษฐกิจดีกว่าไปห้ามการใช้ใยหินในอุตสาหกรรมเป็นหมื่น ๆ เท่า” ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สมชัย กล่าว

นายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นกล่าวหาว่าใยหินเป็นผู้ร้ายในสังคมไทยนั้น เกิดขึ้นจากกระแสของต่างชาติ โดยมีองค์กรที่ชื่อว่า IBAS (International Ban Asbestos Secretariat) ทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการใช้ใยหินทั่วโลก โดยเบื้องหลังขององค์กรนี้คือผู้ที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลผู้อนุญาตให้นำเข้าและผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลังจากที่ห้ามใช้ใยหิน

“ในต่างประเทศที่ยกเลิกการใช้ใยหิน มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก แม้ว่าผู้ประกอบการจะยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีใยหินไปแล้วก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับล้มละลายตกเป็นภาระของรัฐบาลและสังคมต่อไป” นายอุฬารกล่าว

นายอุฬารกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลบอกว่าใยหินอันตราย และสั่งให้รื้อหลังคาใยหิน และให้เลิกใช้เบรกที่มีใยหินทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายล้านคน ที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นจากมาตรการของรัฐที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งในหลายประเทศที่รู้ทันฝรั่ง เช่น เวียดนาม และอินเดีย ก็เพิ่งมีการพิจารณาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไม่ทำตามคำเรียกร้องของเอ็นจีโอที่ต้องการให้เลิกใช้ใยหินในประเทศ