เนื้อหาวันที่ : 2011-02-16 10:07:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3321 views

ตู้ยาประจำบ้าน

สุขภาพดีเริ่มต้นได้ภายในบ้าน หากรู้จักเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้น การเจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถรักษาหายได้ด้วยตัวคุณเอง

โดย  ภญ. อรทัย ศิริพรรณพร


 

สุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ภายในบ้านคุณเอง หากเรารู้จักเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น การเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น มีไข้ เป็นหวัด ปวดท้อง ท้องเสีย หกล้ม อาการเหล่านี้เราสามารถรักษาได้ด้วยตัวเองหรือหากมีอาการรุนแรง อย่างน้อยถ้าเรามียาอยู่ที่บ้านบ้าง ก็จะช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ได้ เริ่มเห็นความสำคัญของตู้ยาประจำบ้านแล้วใช่ไหมคะ ความรู้เรื่องยาฉบับนี้อยากชวนทุกท่านมาจัดตู้ยาประจำบ้านกันค่ะ

ตู้ยา... ควรมียาอะไรบ้าง ?
หากเริ่มต้นไม่ถูก ขอแนะนำให้เริ่มจากรายการยาสามัญประจำบ้าน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ายาประจำบ้าน หาซื้อได้ไม่ยาก และที่ฉลากก็มีวิธีใช้ระบุไว้ชัดเจน เดี๋ยวนี้ร้านยาหลายร้านก็อำนวยความสะดวก จัดทำมาเป็นชุดเรียบร้อย ลองแวะไปปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาใกล้บ้านคุณดูนะคะ มาดูตัวอย่างยาสามัญประจำบ้านที่ว่ากันดีกว่าค่ะ

o ยารับประทาน เช่น ยาลดปวด แก้ไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้แพ้ แก้หวัด (คลอเฟนิรามีน) ยาแก้ไอ (ยาแก้ไอน้ำดำ) ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ยาธาตุน้ำแดง) ยาแก้ท้องเสีย (ผงเกลือแร่ : ORS) ยาแก้ปวดท้อง (ยาน้ำลดกรดในกระเพาะ)

o ยาทาภายนอก เช่น ยาทาแผลโพวิโดนไอโอดีน แอลกอฮอล์ 70%  ยาทาแก้ผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น)

o เวชภัณฑ์ พวกสำลี ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ยา ก็ควรมีติดตู้ยาไว้ด้วย หรือบางบ้านอาจเพิ่มเติมพวกยาสมุนไพรสำเร็จรูปเอาไว้ด้วยก็ไม่ว่ากันค่ะ เช่น เจลว่านหางจระเข้ แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โลชั่นกันยุงตะไคร้หอม ยาระบายมะขามแขก ครีมไพลแก้ปวดเมื่อย

ตู้ยา... ควรอยู่ตรงไหน ? คำตอบคือ อยู่ในที่ที่จะรักษาสภาพของยาให้คงประสิทธิภาพมากที่สุด  

o ไม่ร้อนจัด ไม่เย็นจัด
 อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บยา คือ “อุณหภูมิห้อง” ประมาณ 20 – 25°C แต่เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อนอุณหภูมิจึงมักสูงกว่า 25°C นั่นหมายถึงยาจะเสื่อมเร็วขึ้น ฉะนั้นก่อนกินยานอกจากจะต้องดูวันหมดอายุของยาแล้วยังต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพของยาด้วย สำหรับยาบางชนิดที่ระบุว่าต้องเก็บในตู้เย็น หมายถึงต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2-8°C คือให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง

o ไม่ชื้น
 ไม่ควรเก็บในบริเวณที่มีอากาศชื้น เช่น ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือ ในห้องครัว บางคนเชื่อว่าถ้าเก็บในตู้เย็นแล้วจะทำให้ยาเก็บได้นานขึ้น ซึ่งไม่จริง ห้ามเอายาเม็ดไปเก็บในตู้เย็น เพราะในตู้เย็นความชื้นสูง ยาจะเสื่อมคุณภาพได้

o ไม่โดนแสงแดด
แสงแดดทำให้ยาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ยาบางชนิดสลายตัวได้เร็วเมื่อถูกแสงแดด จะเห็นได้จากผู้ผลิตจะบรรจุมาในขวดสีชาหรือขวดทึบแสง และระบุไว้ว่า “เก็บป้องกันแสง” ซึ่งเวลาเราเอามาเก็บไว้ที่บ้านก็ต้องให้อยู่ในสภาพป้องกันแสงด้วย ยาส่วนใหญ่ถึงจะไม่ระบุว่าต้องเก็บในภาชนะป้องกันแสง แต่ก็ควรเก็บโดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง

ตู้ยา... มียาเสื่อมหรือไม่ ?
ก่อนรับประทานยาต้องดูสภาพด้วยว่ายาเสื่อมหรือไม่ ให้สังเกตลักษณะทางกายภาพ “รูป รส กลิ่น สี” เช่น ถ้ายาเม็ดสีเปลี่ยนไป มีรอยด่าง แตกร่วน เม็ดเกาะติดกัน มีกลิ่นเปรี้ยว แคปซูลบวมพอง นิ่มหรือเกาะติดกัน ผงยาชื้นเกาะเป็นก้อนแข็ง ยาน้ำจากเดิมที่เคยใสเปลี่ยนเป็นขุ่น มีตะกอน หรือยาน้ำแขวนตะกอน ถ้าเขย่าขวดแล้วผงยาไม่กระจายตัวแต่จับกันเป็นก้อนแข็งในขวด เหล่านี้เป็นลักษณะของยาเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรนำมาใช้นะคะ

ตู้ยา...ต้องดูแลอย่างไร
- ยาแต่ละชนิดต้องมีฉลากระบุว่าใช้อย่างไร แก้อะไร และก่อนใช้ทุกครั้งต้องอ่านฉลากก่อนเสมอ
- ควรแยกการจัดวาง ระหว่างยารับประทานและยาใช้ภายนอก
- ตำแหน่งของตู้ยา ต้องห่างจากมือเด็ก ไม่ควรให้เด็กหยิบยาใช้เอง
- หมั่นดูแลฉลากยาให้ชัดเจนอยู่เสมอและคอยตรวจสอบวันหมดอายุของยาด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว บ้านใครยังไม่มีตู้ยาประจำบ้าน หามาจัดเตรียมซะตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายนะคะ การเตรียมพร้อมรับมือกับสุขภาพของทุกคนในครอบครัว เริ่มได้ด้วยตัวคุณเองค่ะ :)
 
ค้นหาข้อมูลเรื่องยาและสุขภาพได้ที่ www.YaAndYou.net
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากหนังสือ คู่มือตู้ยาโรงเรียน  ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสมกับเว็บไซต์ “ยากับคุณ” (www.YaAndYou.net) โดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยากับคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลด้านยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย เปิดให้บริการฟรี 24 ชั่วโมง สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา

ขอบคุณบทความจาก Add Free Magazine