เนื้อหาวันที่ : 2011-02-16 09:01:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 818 views

คลังเผย 4 เดือนแรกปีงบ 54 เก็บรายได้ทะลุเป้าแล้วกว่า 6 หมื่นล้าน

          ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมกราคม 2554 และ 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554

          นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยรัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายติดต่อกันทุกเดือนนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยในเดือนมกราคมสูงกว่าเป้าหมายถึง 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายไปแล้ว 6.4 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 14.1

          เดือนมกราคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 125,751 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,467 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.9) ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในอนาคต และงาน Motor Expo ในเดือนธันวาคม 2553 ที่ส่งผลต่อเนื่องมา ทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์สูงกว่าที่ประมาณการไว้มาก รายได้ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์

          ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 – มกราคม 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 521,228 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 64,247 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.5) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ 36,596 17,365 ๓,๐๘๒ และ 5,325 ล้านบาท ตามลำดับ

          นายนริศฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ที่สูงกว่าเป้าหมายมาก ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2554 จะสูงกว่าเป้าหมาย 120,000 ล้านบาทแน่นอน”
 
          ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเบื้องต้นประจำเดือนมกราคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 125,751 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 20,467 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.4 ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๔ รายได้รัฐบาลสุทธิเท่ากับ ๕๒๑,๒๒๘ ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 64,247 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.5) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

          1. เดือนมกราคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 125,751 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,467 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.9) เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรขาเข้า โดยสูงกว่าประมาณการ 4,409 2,519 2,265 และ 1,209 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.9 10.8 5.0 และ 17.8 ตามลำดับ

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเร่งซื้อสินค้าคงทน ทำให้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 1,940 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.1 รวมทั้งยังมีรายได้จากค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 2,378 ล้านบาท ซึ่งเดิมคาดว่าจะได้รับในเดือนพฤษภาคม 2554 ทำให้รายได้จากส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 3,806 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 108.2

          2. ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 – มกราคม 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 521,228 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 64,247 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.5) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ ๓ กรมจัดเก็บภาษี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ที่สูงกว่าเป้าหมายถึง 57,043 5,325 และ 3,669 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 18.7 และ 12.3 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
          2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 357,076 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 36,596 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.7) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะที่สูงกว่าประมาณการ 17,933 10,352 4,885 และ 3,689 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.1 6.1 7.3 และ 48.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 8.2 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 4.5

          2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 149,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,365 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.9) สาเหตุสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุรา ยาสูบ และเบียร์ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีรถยนต์ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ และภาษีเบียร์ สูงกว่าประมาณการ 8,335 3,040 1,938 และ 1,931 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.0 21.2 10.5 และ 9.8 ตามลำดับ

          2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 33,522 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,082 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.6) เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 2,970 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายตัวของมูลค่านำเข้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทเฉลี่ย 3 เดือน (ตุลาคม – ธันวาคม 2553) เท่ากับร้อยละ 19.7 และ 8.1 ตามลำดับ

          2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 33,809 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,325 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และธนาคารออมสินนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิปี 2553 สูงกว่าประมาณการ 2,039 1,379 และ 500 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ 803 ล้านบาท

          2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 33,528 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,669 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.0) เนื่องจากมีรายได้จากค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 2,378 ล้านบาท (ส่งเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะส่งเดือนพฤษภาคม 2554) และมีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 2,998 ล้านบาท

          2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 67,175 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 452ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 58,105 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 895 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 และการคืนภาษีอื่นๆ 9,070 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,347 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4

          2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในปีงบประมาณ 2554 นี้ การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท.จะแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยจะแบ่งการจัดสรรออกเป็น 12 งวด จากเดิมที่จัดสรร 6 งวด โดยมี การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 งวดแรกของปีงบประมาณ 2554 ในเดือนมกราคม 2554 รวม 11,266 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 886 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5