เนื้อหาวันที่ : 2011-02-15 16:34:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1701 views

เอกชนออกโรงต้านเลิกใช้ใยหิน หวั่นราคาสินค้าพุ่ง

เอกชนประสานเสียงค้านมาตรการเลิกใช้ใยหิน ชี้ไม่เคยพบอันตรายจากใยหินในไทย วอนรัฐรอผลวิจัยก่อนตัดสินใจ หวั่นราคาสินค้าพุ่งกระทบผู้บริโภค

เอกชนประสานเสียงค้านมาตรการเลิกใช้ใยหิน ชี้ไม่เคยพบอันตรายจากใยหินในไทย วอนรัฐรอผลวิจัยก่อนตัดสินใจ หวั่นราคาสินค้าพุ่งกระทบผู้บริโภค

“ประกิต-อุฬาร-วิเชียร” ประสานเสียงปกป้องผู้บริโภค ชี้ไม่เคยพบอันตรายจากใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย เผยหากเลิกใช้ไครโซไทล์ในกระเบื้องหลังคา สินค้าจะหายไปจากตลาด 50% กระเบื้องไม่มีใยหินราคาพุ่งแน่ ประธานผลิตภัณฑ์ตราเพชรเชื่อมั่นรัฐมนตรีไม่บุ่มบ่าม รับฟังทุกฝ่ายและมีข้อมูลชัดเจนก่อนตัดสินใจ ชี้ไม่เหมือนการเปลี่ยนหลอดไฟ ควรมีมาตรการควบคุมก่อนยกเลิก

“อุฬาร” เผยศาลฎีกาในอินเดียเพิ่งยกคำร้องห้ามใช้ใยหิน วอนรัฐรอผลวิจัยเทียบกระเบื้องใยหินกับไม่มีใยหิน ทั้งในด้านสุขภาพและคุณสมบัติก่อน ย้ำผลกระทบจะไปถึงราคาที่อยู่อาศัยและสินค้าเกษตร ด้าน ‘วิเชียร’ บอกสงสารชาวบ้านตาดำๆ ต้องจ่ายเงินเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเรื่องการเสนอยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 1 เดือนนั้น

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานกรรมการ บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ที่ยืนยันได้ว่า ในประเทศไทยมีผู้ที่ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากใยหินไครโซไทล์แม้แต่รายเดียว ทั้งๆ ที่ใยหินได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยกว่า 50 ปีแล้ว และเป็นที่ยอมรับกันมาโดยตลอดในเรื่องของคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรก และท่อน้ำ ซึ่งต้องการคุณสมบัติที่แข็งแกร่ง ทนทาน ทนความร้อน

“ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความเข้าใจเรื่องนี้ดี และเชื่อว่าก่อนที่กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไร จะต้องรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และต้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ชัดเจนเพียงพอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โดยเฉพาะผู้บริโภคที่จะต้องเดือดร้อนแน่ๆ เพราะหากไม่ให้ใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของใยหิน กระเบื้องมุงหลังคากว่า 50% จะหายไปจากตลาด และเมื่อสินค้าที่ไม่มีใยหินมีไม่เพียงพอรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค ราคาที่สูงกว่าอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก” นายประกิตกล่าว

นายประกิตกล่าวด้วยว่า กรณีของใยหินเป็นข้อโต้แย้งในสังคมไทยมาเป็นเวลา 20-30 ปีแล้ว มีการตรวจสภาพอากาศ ตรวจสุขภาพคนงานที่สัมผัสใกล้ชิดกับใยหิน ก็ไม่เคยพบความผิดปกติอะไร แล้วจู่ๆ จะบังคับให้เลิกใช้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่ได้พูดถึงมาตรการควบคุมหรือกำกับดูแล คงเป็นไปไม่ได้

“การเปลี่ยนจากสินค้าใยหินไปเป็นไม่มีใยหิน ไม่เหมือนการเปลี่ยนหลอดไฟ ต้องมีกระบวนการต่างๆ มากมาย แค่เรื่องการเตรียมวัตถุดิบก็ต้องใช้เวลาเป็นปี แล้วยังเรื่องเครื่องจักรในการผลิตอีก ในประเทศญี่ปุ่นการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้เวลาถึง 5 ปี” นายประกิตกล่าว

นายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวย้ำว่า ตลอดระยะเวลานานกว่า 30 ปีที่มีการนำเข้าใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศไทย ยังไม่เคยมีการรายงานผู้ป่วยด้วยโรคเหตุแร่ใยหินที่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือยืนยันเลย

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ยังเคยเขียนบทความถึงกรณีผู้ป่วยชาวไทยรายหนึ่งที่มีการอ้างว่าเสียชีวิตจากใยหิน ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลที่สูบบุหรี่จัดติดต่อกันเป็นเวลานานว่า ไม่มีหลักฐานการตรวจสอบพบเส้นใยหินหรือแอสเบสตอสบอดีย์ในชิ้นเนื้อที่ตรวจ ดังนั้น การสรุปว่าเป็นมะเร็งจากสัมผัสฝุ่นใยหินจึงยังเลื่อนลอย อาจจะเกิดจากการสูบบุหรี่ปริมาณมากเป็นเวลานานมากกว่า (‘กรณีอ้างอิงเมโสเธลิโอมา’ วารสารวิจัยระบบสาธารณะสุข ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เม.ย. - มิ.ย. 2552)

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยพบว่าใยหินไครโซไทล์มีอันตรายต่อสุขภาพเลย ก็เพราะกระเบื้องมุงหลังคามีส่วนผสมของใยหินเพียง 6-8% เท่านั้น และติดแน่นในผลิตภัณฑ์ ไม่ฟุ้งกระจาย และแม้ไครโซไทล์ เข้าสู่ร่างกายในประมาณที่ไม่มากและไม่ได้สะสมเป็นเวลานาน ร่างกายก็กำจัดออกเองได้ แล้วทำไมเราต้องทำร้ายผู้บริโภค

โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาถูก หากเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ไม่มีใยหินนอกจากจะจ่ายแพงตั้งแต่แรกแล้ว อายุการใช้งานของกระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้ภายนอกยังสั้นไม่เกิน 3 ปีก็ชำรุดแล้ว ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ในขณะที่กระเบื้องใยหินมีอายุการใช้งาน 10-20 ปีขึ้นไป” นายอุฬารกล่าว

นายอุฬาร เปิดเผยถึงสารทดแทนที่นำมาใช้แทนใยหินไครโซไทล์ว่า มีราคาสูงกว่ากันถึง 10 เท่า ทำให้ไทยต้องเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท และราคาจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่มีใยหินก็สูงขึ้นทันทีประมาณ 30% และต้องสูงกว่านี้อีกแน่ หากกระเบื้องใยหินหายไปจากตลาดถึง 50% จะส่งผลไปถึงราคาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ที่จะต้องสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในภาคการเกษตร จะส่งผลกระทบต่อฟาร์มเลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าหลังคาที่ใช้ไครโซไทล์เหมาะสมกับการเลี้ยงสุกร แต่หากใช้หลังคาเหล็กจะโตช้ากว่า ต้นทุนการเลี้ยงย่อมเพิ่มมากกว่า หรือหากใช้หลังคาที่ไม่มีใยหิน ก็ต้องเปลี่ยนหลังคาบ่อยมาก จากกรดและความชื้นที่เกิดขึ้นจากมูลสุกร ดังนั้น ราคาเนื้อหมูจะเพิ่มขึ้นอีกมาก หากเลิกใช้ไครโซไทล์

นายอุฬารกล่าวด้วยว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีรายงานโรคในประชาชนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีใยหินเป็นส่วนผสม นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงสนใจจะทำการศึกษาวิจัย โดยใช้กระเบื้องมุงหลังคาเปรียบเทียบระหว่างชนิดที่มีใยหินกับไม่มีใยหิน ดังนั้น ในระหว่างนี้ภาครัฐควรรอผลการศึกษาก่อนจะตัดสินใจใดๆ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาดไปแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขได้

จะเห็นได้ว่าในประเทศอื่นก็ใช้เวลาพิจารณายาวนาน เช่นในประเทศอินเดีย มีข่าวในช่วงปลายเดือนมกราคม 2554ว่า ศาลฎีกาได้ยกคำร้องขอให้ยกเลิกการใช้ใยหินของ NGO พร้อมสั่งให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลประจำมลรัฐตั้งองค์กรกำกับดูแลการใช้และผลิตแร่ใยหิน และให้รัฐบาลประจำมลรัฐนำแนวคำพิพากษาศาลฎีกาปี 2538 มาใช้กับเรื่องนี้

นายวิเชียร ผู้พัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทไทยกระเบื้องหลังคา จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีขนาดเล็ก และไม่มีองค์ความรู้ในการผลิตที่ใช้สารทดแทนใยหินที่มากพอ อีกทั้งการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่มีใยหิน มีการลงทุนสูง หากต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรทั้งหมดเพื่อไปผลิตกระเบื้องที่ไม่มีใยหิน จำเป็นต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตนานถึง 3-4 ปี บริษัทคงต้องเลิกกิจการไปเลย

“สงสารก็แต่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เป็นเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท” นายวิเชียรกล่าว