เนื้อหาวันที่ : 2007-03-13 10:37:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1404 views

บีเอ็มซีแอล ยืนยันไม่ถอดใจแม้รถไฟฟ้าโดนหั่นเหลือ 2 สาย

บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล พร้อมเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง ชี้แม้จะมีการลด จำนวนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจาก 5 สายทาง เหลือ 2 สายทาง ก็ไม่กระทบกับความตั้งใจ

ผู้บริหาร บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล. ระบุแม้จะมีการลด จำนวนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจาก 5 สายทาง เหลือ 2 สายทาง ก็ไม่กระทบกับความตั้งใจ ของบีเอ็มซีแอล.ที่พร้อมเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เชื่อการส่งสัญญาณของรัฐมนตรีคลังคนใหม่ เป็นการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของการลงทุนเท่านั้น

.

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีเอ็มซีแอล เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศหั่นโครงการรถไฟฟ้าจาก 5 เส้นทาง ลงเหลือ 2 เส้นทางนั้น จะไม่กระทบต่อบีเอ็มซีแอลที่พร้อมจะเข้าประมูล โครงการรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง โดยมั่นใจถึงความพร้อมที่มีจากประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารการก่อสร้าง และบริหารการเดินรถ  สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) ที่เปิดให้บริการไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกกี่สายทาง จะเชื่อมต่อเส้นทางอย่างไร บีเอ็มซีแอล ก็สามารถเข้าดำเนินการได้

.

อย่างไรก็ตาม  การส่งสัญญาณของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชื่อว่า ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเลิกโครงการรถไฟฟ้าที่เหลือนอกจาก 2 สาย แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังตามแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลที่เข้ามาเตรียมการเลือกตั้ง และไม่ควรลงทุนเกินกว่าที่จำเป็น โดยบีเอ็มซีแอลเชื่อว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่เหลือนอกจาก 2 สายแรกในอนาคต ยังจะต้องมีเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดตามมา ตามความต้องการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ของประชาชนที่ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาจราจร และการประหยัดพลังงานน้ำมัน ที่ราคาปรับสูงขึ้นทุกวัน

.

นอกจากนี้สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า บีเอ็มซีแอล ได้เตรียมทบทวนแผนการจัดซื้อรถไฟฟ้าใหม่อีก 5 ขบวนนั้น ไม่ได้เกิดจากข่าวการลดจำนวนโครงการรถไฟฟ้า แต่มาจากการที่บีเอ็มซีแอล อยู่ระหว่างการติดตามการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าที่เหลือว่า  จะเปิดให้เอกชนเป็นผู้สัมปทานเดินรถด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเปิดให้เอกชนร่วมสัมปทานได้ด้วยนั้น บีเอ็มซีแอล เห็นว่าการจัดซื้อขบวนรถเพียง 5 ขบวนอาจไม่เพียงพอ และอาจมีการทบทวนเพื่อจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 20 ขบวนในอนาคต

.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา บีเอ็มซีแอล ได้ทำหนังสือรายงานถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องการใช้เงินเพิ่มทุนจำนวน 150 ล้านบาท ของบีเอ็มซีแอล เพื่อใช้ในการศึกษา การดำเนินงานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า

.

โดยก่อนหน้านี้ บีเอ็มซีแอล ได้รายงานให้ ตลท.ทราบมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเห็นชอบให้นำเงินเพิ่มทุนของบริษัทที่เหลือจำนวน 1,697 ล้านบาท จัดสรรเป็น 3 ส่วน คือ 1. ใช้ลงทุนในอุปกรณ์งานระบบจำนวน 73 ล้านบาท ภายในปี 2550  2. ใช้ในการศึกษาการดำเนินงานส่วนต่อขยายจำนวน  150  ล้านบาท ภายในปี  2550 และ 3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทจำนวน 1,474 ล้านบาท ภายในปี 2550-2551

.

ส่วนแผนรายละเอียดแผนการใช้เงินจำนวน 150 ล้านบาท เพื่อใช้ในการศึกษาการดำเนินงานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 5 เส้นทางนั้น งบประมาณจำนวน 150 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินโดยประมาณ ที่บริษัทคาดว่าจะนำมาใช้ในการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ ได้แก่  1. ผู้เชี่ยวชาญอิสระในการประมาณการจำนวนผู้โดยสาร  2. ที่ปรึกษาทางด้านการเดินรถ  3. ที่ปรึกษาด้านเทคนิค 4.ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย 5. ที่ปรึกษาด้านการเงิน 6.ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เป็นต้น.