เนื้อหาวันที่ : 2011-02-15 09:46:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 755 views

GBX แนะจับตาศก. จีน-สหรัฐ ก่อนลงทุนทอง

GBXแนะจับตาตัวเลขศก.จีน-สหรัฐ เล็งกรอบ1,335-1,373ดอลล์ต่อออนซ์

บมจ.โกลเบล็กฯ มองจลาจลในอียิปต์เริ่มคลี่คลาย แต่หวั่นการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐ กดดันราคาทองปรับลดลงอีกรอบในช่วงสั้น ผ่ากลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ แนะ “เก็งกำไรระยะสั้นเมื่อราคาอ่อนตัว” คาดกรอบลงทุน 1,335-1,373 ดอลล์ต่อออนซ์ หรือ 19,400-20,000 บาทต่อบาททอง

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GBX เปิดเผยถึงแนวโน้มราคาทองคำประจำสัปดาห์(14-18 ก.พ.54)ว่า ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำ”ซื้อเก็งกำไรระยะสั้น”เมื่อราคาอ่อนตัว โดยให้พิจารณาที่ระดับ 1,354 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ หากหลุดลงมาในช่วง 2 วันแรกของสัปดาห์ จะเกิดสัญญาณลบระยะสั้น ให้รอซื้อที่ 1,338 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ 

แต่หากราคาเกิดปรับขึ้นทะลุผ่านแนวต้านกระจุกตัวแถว 1,368 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ไปได้ ให้นักลงทุนกลับข้างเปลี่ยนกลยุทธ์จากรอซื้อไปไล่ซื้อเพื่อเก็งสั้นตามทันที คาดการณ์กรอบการลงทุนไว้ที่ 1,335-1,373 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ หรือ 19,400-20,000 บาท/บาททอง

ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ราคาทองคำจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะได้แรงหนุนจากความตรึงเครียดในอียิปต์ที่เริ่มคลี่คลาย แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจกับการบริหารประเทศของกองทัพ โดยเรียกร้องให้มอบอำนาจอธิปไตยคืนให้กับภาคพลเรือนโดยเร็วถึงจะสลายการชุมนุม อีกทั้งประเทศในแถบดังกล่าวกำลังเลียนแบบพฤติกรรมโค่นล้มผู้นำประเทศอยู่บ้าง ซึ่งล่าสุดผู้ชุมนุมเยเมนหลายร้อยคนไปประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในประเทศ)

แต่โกลเบล็กคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายลงเป็นลำดับ ดังจะสังเกตได้จากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลในอียิปต์ที่มีพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนประเทศที่ลอกเลียนพฤติกรรมล้วนเป็นประเทศขนาดเล็กแทบทั้งสิ้น จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบไปยังภาคการบริโภคและการลงทุนระดับโลกในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน คาดว่าแรงหนุนที่มีต่อราคาทองคำในลักษณะแหล่งพักเงินชั้นดีนี้จะถูกหักล้างไปด้วยการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจีน, สหรัฐฯ, และยุโรปที่มีแนวโน้มออกมาสดใส โดยเฉพาะในส่วนของจีนที่จะมีการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้องวดเดือนม.ค. 54 ซึ่งโพลล์คาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็น 5.3% จากงวดก่อนที่ 4.6% หากตัวเลขออกมาดีตามที่โพลล์คาด ย่อมสร้างความกังวลตามมาว่าธนาคารกลางจีนจะดำเนินนโยบายการเงินเชิงเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจของยุโรปคือ ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน (ZEW Economic Sentiment) โพลล์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.2 จุดจาก 15.4 จุดในงวดก่อน ขณะที่สหรัฐฯจะเปิดเผยยอดค้าปลีก โพลล์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% MoM น้อยกว่างวดก่อนที่เพิ่มขึ้น 0.6% MoM และดัชนีราคาผู้บริโภค โพลล์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% MoM น้อยกว่างวดก่อนที่เพิ่มขึ้น 0.5% MoM