เนื้อหาวันที่ : 2007-03-13 10:22:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1259 views

สอท.-สสว.เดินหน้าโครงการจับคู่ธุรกิจและกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจับมือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เร่งโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร อัดเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอี พร้อมจับคู่ธุรกิจให้เอสเอ็มอีผู้ซื้อได้พบผู้ขาย ตั้งเป้า 5 ภาค

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดโครงการจับคู่ธุรกิจให้เอสเอ็มอีผู้ซื้อได้พบผู้ขาย ตั้งเป้าจัดขึ้น 5 ภาคทั่วประเทศ  พร้อมเดินหน้าโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร เพื่อสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดต้นทุนเงินกู้แก่เอสเอ็มอีที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ร่วมกับ สสว. ได้ร่วมกันจัดทำโครงการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 2 โครงการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2550 วงเงินรวม 205 ล้านบาท ได้แก่ โครงการจับคู่ธุรกิจ 35 ล้านบาท และโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร วงเงินช่วยเหลือ 170 ล้านบาท โดยโครงการจับคู่ธุรกิจเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย จะจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม กันยายนนี้ ซึ่งเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง สำหรับกิจกรรมครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนต่างจังหวัดจะจัดขึ้นทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยภาคเหนือจัดที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่นครราชสีมา ภาคตะวันออกจัดที่ชลบุรี ภาคใต้จัดที่สงขลา

.

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมขึ้นในต่างประเทศอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซียและแอฟริกา ซึ่งนอกจากจะมีการจับคู่ธุรกิจแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี นำสินค้ามาเสนอในส่วนของ Showcase Zone และมีกิจกรรมนำเสนอ Best Practice รวมทั้งอบรมในหัวข้อต่าง ๆ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรมไทย

.

ส่วนโครงการกองทุนฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร สสว.มีวงเงินสนับสนุน 170 ล้านบาท จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3  เป็นเวลา 5 ปี และมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม กันยายนนี้  ความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ใช้เครื่องจักรในการผลิตที่ทันสมัยมากขึ้น และยังเป็นลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 2548 ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ 6.8 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด.